วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เศรษฐกิจโลกตก4 - อย่าตามก้นฝรั่ง





ความเดิมที่ผมได้เขียนไว้ในตอนก่อนๆ ว่าตราบใดเรายังพึ่งพาการส่งออก และการไหลเข้าของทุนต่างชาติเป็นหลัก ตราบนั้นเราก็จะต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆไม่รู้จบ วนเวียนเข้ามาเรื่อยเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด


ข่าววันนี้ที่ผมได้เห็นก็เป็นไปตามคาดการณ์ วันนี้มีข่าวโรงงานเครื่องประดับส่งออกต้องปิดกิจการ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส่งออกก็ปลดคนงาน(lay off) งดทำงานล่วงเวลา(OT)ให้พนักงานลาพักร้อนได้ระยะยาว และจะมีทยอยมาอีกเรื่อยๆ

(แม้แต่ดารานางแบบชื่อดัง เก๋ ชลลดา เมฆราตรี ที่กิจการครอบครัวเป็นกิจการขายอัญมณีเครื่องประดับ ก็ยังพูดในรายการ ตาสว่าง(วัน29ต.ค.51) ของสัญญา คุณากร ว่า ร้านเพชรของเธอที่ห้างเกสรพลาซ่าและโรงแรมเซนทารา นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงวันที่รายการออกอากาศนั้น ที่ร้านทั้งสองสาขาของเธอยังไม่ได้ขายสินค้าเลยแม้แต่บาทเดียว ซึ่งนี่ก็คือผลจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องประดับจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด)

ข่าวทางการเกษตร ก็มีเช่น ราคายางตกต่ำ ชาวสวนยางกำลังลำบากเพราะช่วงยางราคาดี ก็ไปออกมอ'ไซค์ ออกรถปิกอัพกันเยอะ ตอนนี้มีภาระเงินผ่อนยังไม่หมด บางรายต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึด ชาวสวนบางคนอุตส่าห์ลงทุนเอานาข้าวมาปลูกยาง ยังไม่ทันได้ผลผลิตให้คุ้มก็มีอันต้องซวยจากราคายางตก จะกลับไปปลูกข้าวอีกก็ไม่ได้ เพราะยางไม่ได้จะปลูกกันมาง่ายๆกว่าจะได้กรีด


ผมเห็นด้วยกับรมต.คลังปัจจุบัน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรองนายกฯ นายโอฬาร ไชยประวัติ(ลูกน้องแม้ว) ที่นายโอฬาร อยากจะสร้างกองทุนเงินเข้าไปพยุงราคาหุ้นในตลาด แต่รมต.สุชาติ กลับเห็นแย้งว่า ไม่ควรเอาเงินไปอุ้มตลาดหุ้น เพราะไม่ควรนำเงินคนส่วนใหญ่ไปอุ้มคนรวย ควรจะนำเงินลงไปช่วยประชาชนคนรากหญ้า(grass root)ก่อนเป็นอันดับแรก


นักวิชาการส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักเรียนมาจากฝรั่ง ฝรั่งมันสอนอะไรมาก็เชื่อถือมัน อย่างที่ผมเคยบอกไว้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคือบ่อเกิดหายนะและความล้มเหลวของโลกนี้


ดูอย่างในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งปี40 ที่ไทยเราตามก้นIMF ให้IMF มันเป็นพ่อ แต่ในวิกฤติเดียวกัน มาลเซียนำโดย มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯมาเลย์ตอนนั้น กลับฝืนกระแสโลก ไม่ทำตามแนวเศรษฐศาสตร์ตะวันตก เช่นการประกาศกำหนดค่าเงินตายตัว(อ่านแนวทางกู้เศรษฐกิจของมหาธีร์คลิก)


และแนวทางนี้โลกตะวันตกนำโดยIMF กลับดูถูกต่อว่ามาเลย์ว่าจะดำเนินการแก้ไขผิดพลาด แต่ ดร.มหาธีร์ ก็ไม่สนใจ และดำเนินตามแนวทางขวางโลกต่อไป แต่ในที่สุดกลับผ่านพ้นภาวะต้มยำกุ้งไปได้ก่อนไทยด้วยซ้ำครับ ซึ่งต่อมานายพอล ครุกแมน นักเศษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้เคยออกมายกย่องวิธีการของ ดร.มหาธีร์ ว่าได้ทำถูกต้อง) อ่านประวติมหาธีร์


ได้ข่าวว่า รัฐบาลนายสมชาย น้องเขยแม้ว จะไปเร่งฟืนฟูโครงการเพื่อคนรากหญ้า3โครงการ เช่น กองทุนหมู่บ้าน(ให้ชาวบ้านสร้างงานสร้างเงินเอง) โครงการOTOP(หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) และโครงการSML (สร้างสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน) ทั้งหมดก็เพื่อให้ระบบยังมีการหมุนเวียนของเงินต่อไปไม่หยุดนิ่ง และเพื่อรองรับการว่างงานที่กำลังเพิ่มขึ้น และอย่าคิดแค่เพียงกระตุ้นGDPเป็นหลัก เพราะนี่คือหายนะแห่งการบริโภคนิยม เงินควรจะถึงคนรากหญ้าที่เดิอดร้อนให้มากที่สุด อย่าให้ไปอยู่ในมือคนรวยก่อนหล่ะ ควรทำวิธีช่วยเหลือแบบล่างขึ้นบน
.
(ขอยกตัวอย่างเช่น นโยบายของนายบารัค โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือมุ่งช่วยคนระดับล่างก่อน แล้วผลจะย้อนขึ้นกลับไปช่วยคนระดับบนเอง ผิดกับ นายจอห์น แมคเคน คู่แข่งนายโอบามา ที่มุ่งช่วยคนรวยก่อน โดยคิดว่าเมื่อคนรวยอยู่ได้ก็จะสามารถอุ้มคนจนได้ด้วย เพราะคนรวยคือเจ้าของธุรกิจ เรียกว่า ช่วยจากบนลงล่าง)


โครงการเหล่านี้ ผมเห็นด้วยครับ แต่ต้องไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ไปใช้ส่งเสริมความฟุ่มเฟือยหรือการบริโภคนิยมฟุ้งเฟ้อให้แก่ชาวบ้าน(เหมือนสมัยแม้วอยู่) 


หากรัฐบาลยึดแนวทางวิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ผมเชื่อว่าไทยเราจะไปรอดครับ


กลับมาที่ข่าวข้าวโพดราคาตกต่ำ และมันสำปะหลังราคาตก เราจะเห็นว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้จะปลูกในพื้นที่กว้างจำนวนมาก จะพึ่งพาพืชผลเพียงชนิดเดียว แถมเร่งปุ๋ย เร่งยา เพื่อให้ได้ผลผลิตคราวละจำนวนมากๆ(ต้นทุนสูงขึ้น) แต่พอได้ผลผลิตออกมามากเพราะไม่เคยมีการวางแผน สุดท้ายก็เกินความต้องการ แล้วราคาก็ตกไม่คุ้มทุน จึงเห็นได้ว่า นี่คือความไม่พอเพียง ที่รัฐบาลไม่เคยมองเห็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

เราจะผลิตออกมามากกันทำไม ในเมื่อยิ่งมากก็ยิ่งขาดทุน [วันนี้เห็นทางกลุ่มซีพี (C.P.group) ได้ออกมาเสนอรัฐบาลอย่าเข้าร่วมประมูลการส่งออกข้าวแข่งกับเวียตนาม เพราะตอนนี้เวียตนามกำลังจะเร่งระบายผลผลิตข้าว ถ้าไทยเราร่วมประมูลอีก จะทำให้ราคาข้าวตกต่ำเพิ่มขึ้น เพราจะไปตัดราคากันเอง]


ไม่ว่าจะธุรกิจใด จะเป็นภาคอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม หากเราอยากจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น เราควรเริ่มจาก ตลาดในประเทศเป็นหลัก ให้สามารถอยู่ได้ด้วยตลาดภายในประเทศก่อน ด้วยทุนเราเอง อย่าพยายามกู้มาขยายให้ใหญ่เกินตัว
เมื่อเราสามารถอยู่ได้ด้วยตลาดในประเทศแล้ว หากพอมีกำลังเหลือค่อยส่งออก อย่าได้ยึดการส่งออกเป็นหลัก เพราะหากเราไม่ได้คำสั่งซื้อจากต่างชาติ เราก็จะพออยู่ได้

ขอยกตัวอย่างจากข่าววันนี้ เช่น ตอนนี้ฮ่องกงตรวจพบสารเมลามีนในไข่สดจากจีน ทำให้ฮ่องกงหันมาสั่งไข่สดจากไทยแทน ซึ่งหากไข่เกิดราคาขึ้นจนเป็นที่เย้ายวนใจเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ ก็อาจทำให้เกษตรกรต่างก็พากันหันมาเลี้ยงไก้ไข่กันมากขึ้น สมมุติ ความต้องการไข่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากฮ่องกง หรือชาติอื่นๆ อีก ราคาไข่ดีขึ้นมากๆ ทำให้เกษตรกรอยากรวย ก็ไปหาเงินกู้มาลงทุนสร้างโรงเลี้ยงไก่ไข เพิ่มขึ้น

แต่อยู่ๆ ถ้าเกิดปัญหาไข่สดจากจีนเกิดแก้ไขปัญหาได้ขึ้นมาอาจจะสักภายในปีสองปี แล้วฮ่องกงก็กลับไปซื้อไข่สดจากจีนอีกเพราะเป็นประเทศแม่ ทีนี้เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ของไทย ก็จะมีตลาดน้อยลง ไข่ไก่ก็จะราคาตก เกษตรกรก็ยังผ่อนเงินกู้ที่กู้มาลงทุนเลี้ยงไก่ยังไม่ทันหมด สุดท้ายเกษตรกรไทยก็จะมีอันเจ๊งขาดทุนย่อยยับในที่สุดเหมือนเดิม

เรื่องสุดท้ายที่อยากเอ่ยถึง ก็เรื่องการค้าเสรี ที่พวกฝรั่งมักนำมาใช้ข่มขู่ชาติในเอเซีย ว่าห้ามแต่ละชาติกีดกันผลผลิตจากชาติอื่น เช่นกีดกันด้วยการเพิ่มภาษีนำเข้า หรือห้ามใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าบางขนิดที่จะมาแข่งกับสินค้าในประเทศ เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ที่จริงแล้วเป็นการเอาเปรียบจากชาติตะวันตกหรือชาติที่เจริญกว่า แต่จะให้ชาติที่ด้อยกว่าตัวเองให้มาใช้กฏกติกาอันเดียวกัน ชาติที่เจริญกว่าย่อมได้เปรียบมาก เปรียบเหมือนเอานักกีฬาอาชีพมาแข่งกับนักกีฬาสมัครเล่น ตัวอย่างกีฬากอล์ฟ เวลาจะให้นักกีฬาอาชีพสามารถมาแข่งกับนักกีฬาสมัครเล่นได้ ก็จะต้องมีแต้มต่อ ระหว่างกัน (handicap) จึงจะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน

หากเราไม่เน้นการส่งออก เราก็ไม่ต้องกลัวมาตรการการบีบบังคับเหล่านี้ แม้แต่อเมริกาเองที่ชอบอ้างมาตรการนี้กับประเทศอื่น แต่พอถึงคราวตัวเอง ก็กลับละเมิดกฏการค้าเสรีเสียเอง เช่น กรณีแอปเปิลราคาถูกจากจีนเข้าไปตีตลาดอเมริกา อเมริกากลัวเกษตรกรของตัวเองจะเดือดร้อนเพราะขายไม่ได้ อเมริกาก็เลยแหกกฏการค้าเสรี ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีเพิ่มสูงขึ้นต่อแอปเปิลจากจีน ทำให้แอปเปิลจากจีนมีราคาสูงขึ้นทันที ซึ่งอเมริกาไม่สนใจกฏกติกาอะไรทั้งนั้น เพราะถือว่าตัวเองใหญ่

หากใครได้มาอ่านบทความนี้ และยังเป็นนักเรียนนักศึกษาที่คิดจะเรียนต่อเมืองนอกเช่นอเมริกา ผมไม่ได้คัดค้านว่าควรเรียนหรือไม่ แต่อยากให้รู้ว่า เมื่อเราไปเรียนรู้ทฤษฎีฝรั่งมา ก็อย่าไปหลงเชื่อทฤษฎีฝรั่งไปเสียหมด

ดร.มหาธีร์ ก็ไม่ได้ไปเรียนต่อที่ชาติตะวันตก แต่คนทั้งโลกก็ยกย่อง มหาธีร์ ว่า เก่งกว่าฝรั่งเสียอีก เข่นเดียวกัน เราเรียนรู้จากฝรั่งได้ แต่เราก็สามารถปรับใช้แก้ไขไปตามทางแนวทางของเราได้ ไม่จำเป็นต้องเดินตามก้นฝรั่งเสมอไป

เราควรยึดแนวทางตามแนวทางในหลวงของเราไว้เป็นหลัก เพราะนี่แหล่ะ คือ วิถีทางที่ถูกต้องและยั่งยืนที่สุดครับ



อ่านเศรษฐกิจตก1
อ่านคนอเมริกันเบื่ออเมริกา
อ่านอเมริกาจ๋อย1



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม