วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติเขาพระวิหารและมุมมองผู้เชี่ยวชาญ


ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นส่วนหนึ่งของอารยะธรรมขอมโบราณ หรือขะแมร์โบราณ(ประมาณพุทธศตวรรษที่15ถึง18 หรือก่อนอาณาจักรสุโขทัยประมาณ300ปี) ขอมใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง300ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่1" ถึง "ชัยวรมันที่7"




“ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขา หรือ “ศิขเรศร” เป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก (“พนมดงแร็ก” ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน (เขต) จังหวัด “เปรียะวิเฮียร” (Preah Vihear) ของกัมพูชา



“ปราสาทเขาพระวิหาร” น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา “เสียกรุง” ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ “หนีเสือไปปะจระเข้” คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขงแต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ “เสียกรุงศรีอยุธยา” (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ “เสียกรุงศรียโสธรปุระ” (พ.ศ. 1974)




ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ไปประมาณเกือบ 500ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น“อาณานิคม” ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ “สยาม” สมัย ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10กว่าปี



จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง “ไกลบ้าน”) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก “ตราด และด่านซ้าย (เลย)” กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้) จันทบุรีนั้นฝรั่งเศสคืนมาให้ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2447
กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย“รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม” ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา “เอกราชและอธิปไตย” ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้



เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง “อภิรัฐมนตรี” ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อ ครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)




หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว ในยุคจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกฯ รัฐบาลได้ปลุกกระแสชาตินิยมขึ้น ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน “มณฑลบูรพา” และ “ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง”
จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง “กองกำลังบูรพา” ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น “มหามิตรใหม่” เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบ ร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ “ไทย” สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)





และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า “ลาน” ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)





และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้ หลวงวิจิตรวาทการ มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)





ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า “ได้ปราสาทเขาพระวิหาร” มา ดังหลักฐานในหนังสือ “ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน” ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า“ปราสาท หินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ”





แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่2 สิ้นสุด ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทางฝ่ายพันธมิตรจะปรับไทยเป็นฝ่ายแพ้สงครามด้วย แต่โชคดีที่มีขบวนการเสรีไทยช่วยไว้ ไทยจึงรอดจากสถานะภาพแพ้สงครามอย่างหวุดหวิด
แต่มีข้อแม้ว่า
รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า “สี่รัฐมาลัย” คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา “ปราสาทเขาพระวิหาร” ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)






และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆ ไป
เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง “กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช” และ “นักราชาชาตินิยม” ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)




รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน “รักชาติ” บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ



<ข้อสังเกตส่วนตัว> - หากเขาพระวิหารอยู่ในพื้นที่เขมรทั้งหมด ทั้งตัวปราสาท สระลาว หรือสถูปคู่จริง เขมรก็ไม่จำเป็นต้องมาขอให้นายนพดลลงนามยินยอมหรอก เขาไปขึ้นทะเบียนได้เลย ไม่ต้องเจรจากับไทยมาถึง16ปีหรอก (แต่ถึงแม้จะเป็นของใครก็ตาม การที่นพดลไปรีบเซ็นแบบไม่ค่อยโปร่งใสหรือชี้แจงให้คนไทยรู้ตั้งแต่แรก ทั้งที่ยังมีเรื่องเกียวกับการบุกรุกและกล่าวหาซึ่งกันและกันทั้ง2 ฝ่าย และยังไม่มีการปักปันเขตชายแดนที่ชัดเจน มันก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียเปรียบเขา อาจเสียค่าโง่ซ้ำปี2505 อีกครั้ง) ส่วนคำแปลคำตัดสินของศาลโลก ถ้าเป็นคนขายชาติ ก็จะแปลว่า ศาลตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงเป็นขอกัมพูชา แต่ถ้าหัวใจไทยแท้ก็จะแปลว่า ตัวปราสาทและบริเวณรอบปราสาทเป็นของกัมพูชา (หมายถึงเฉพาะบริเวณรอบๆของตัวปราสาทเฉพาะที่อยู่บนเขา) เนื่องจากศาลโลกตัดสินไม่ชัดแจ้งในรายละเอียดของพื้นที่ไม่ได้ระบุพิกัดหรือจุดแน่นอนและเป็นภาษาอังกฤษ จึงสามารถแปลได้2อย่าง แล้วแต่ว่าใครจะเข้าข้างใคร
แต่ในทางปฏิบัติจริง หลังมติคณะรมต.2505 เราได้สร้างบันไดขึ้นไปอยู่บนบันไดนาค (ขั้นที่เท่าไหร่ ขออภัยที่จำรายละเอียดไม่ได้)ซึ่งเขมรก็ไม่ได้คัดค้านอะไร และในบริเวณเชิงเขา ในสมัยก่อนปี2540 เคยมีคนไทยขายของอยู่ตีนบันไดมาตลอด แต่ปัจจุบันโดนเขมรไล่ออกไปหมดแล้ว ไปถามคนในพื้นที่ได้

ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่น เอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของ ฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ “กฎหมายปิดปาก” ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง
(แหล่งข้อมูลจาก ok.nation)




<ข้อสังเกตส่วนตัว>- ความจริงต้องโทษ จอมพลสฤษดิ์ ที่ตัดสินใจไปขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีกับเขมรแล้ว เพราะที่จริงไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลก็ได้ เราสามารถฉีกสนธิสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสในสมัย ร. 5 ทิ้งก็ได้ โดยอ้างว่า ไทยเราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้ว ไม่ใช่ระบอบราชาธิปไตยอีกและเราก็ถูกบีบให้ทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม ซึ่งมันเป็นสนธิสัญญาอัปยศ เราจึงไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป ซึ่งที่จริงแล้วศาลโลกก็ไม่มีอำนาจบังคับเราให้ต้องขึ้นศาล แต่เราดันไปขึ้นเอง ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของเราเอง




กรณีความขัดแย้งเขาพระวิหาร อาจจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย เมื่อ ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกอายุ 82 ปี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการมาตั้งแต่ปี 2532 ออกมาเปิดเผยครั้งแรกว่าไม่เห็นด้วยกับการลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนโลกเขาพระวิหาร ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะนั่นเท่ากับการยกดินแดนและอธิปไตยไทยให้กับกัมพูชา และอาจจะถือเป็นครั้งแรกหลังศาลโลกตัดสิน "ไทยเสียดินแดนให้กัมพูชา"
ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ"เผยรับรองมรดกโลกเขาพระวิหารไทยเสียประโยชน์เสียอธิปไตย เท่ากับยกแผ่นดินให้กัมพูชาครั้งแรก เชื่อมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ระบุถูกปลดก่อน 'นพดล' ลงนามรับรอง





ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลก กล่าวว่ารัฐบาลไทยลงนามสนับสนุนให้กัมพูชา เสนอเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถือเป็นการเสียดินแดนครั้งแรก และประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันมาตลอดระหว่างคณะกรรมการมรดกโลก และกรมอนุสนธิสัญญา กรมเอเชีย ของกระทรวงต่างประเทศ กรณีที่ กัมพูชาจะขอเสนอ ปราสาทเขาพระวิหารเป็นพื้นที่มรดกโลก ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่ง คณะกรรมการมรดกโลกเสนอไปว่า ควรจะต้องเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะเสียดินแดนและอธิปไตย และได้ยึดถือตามแนวทางข้อตกลงร่วมกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2548




ดร.อดุลย์ กล่าวอีกว่าไทยไม่สามารถจะสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชา เสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงประเทศเดียวอย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศไปลงนามนั้นไม่ได้ เพราะการขึ้นทะเบียนตัวเขาพระวิหารนั้น ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่จะต้องมีการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์รอบตัวโบราณสถาน ซึ่งการออกประกาศก่อสร้าง ในเขตอนุรักษ์พื้นที่ทำในเขตไทยเพราะฉะนั้น ถือเป็นการรุกล้ำดินแดนไทย เนื่องจากคำตัดสินของศาลโลกที่ยึดถือกันมาตลอดคือ ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของกัมพูชา แต่แผ่นดินเป็นของประเทศไทย ทำให้ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาล ชุดไหนไปลงนามเซ็นสัญญาลักษณะนี้ โดยจะเจรจา ตามแนวทางการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันเท่านั้น





"เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ โดย นายวีระชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายคนเก่าได้เดินทางมาหารือกับผมอีกครั้งขณะที่ผมยังอยู่ที่โรงพยาบาล ในเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหาร แต่ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ยึดแนวทางตามข้อตกลงในปี 2548 โดย ให้เสนอร่วมกันระหว่างประเทศ เพราะหากเราไปสนับสนุนให้ กัมพูชาขึ้นทะเบียนเราจะเสียอธิปไตยเพราะแผนการจัดการพื้นที่จะตกไปอยู่ที่กัมพูชา ทันทีซึ่ง ผอ.กรมสนธิสัญญาคนเก่าก็ยึดถือตามนั้น จนอาจจะเป็นสาเหตุของคำสั่งย้าย" นายอดุลย์ กล่าว





อย่างไรก็ตาม ดร.อดุลย์ กล่าวว่า หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ผมก็ทราบว่า ผู้อำนวยการคนนี้ได้ถูกสั่งย้ายซึ่งไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และเมื่อสัปดาห์ทีผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ จาก กรมเอเซีย และกรมสนธิสัญญา ได้มาหารือกับผมอีกครั้ง โดยนำเอาวีดีโอ มาบันทึก ซึ่งผมก็เสนอไปเช่นเดิมว่าไม่เห็นด้วยที่จะลงนาม สนับสนุนกัมพูชา และเห็นว่าควรจะต้องเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันเท่านั้น "หลังจากที่ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศมาหารือและผมยืนยันไปตามมติตามแนวทางปี 2548 หลัง





จากนั้นผมก็ทราบว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยไปตกลงลงนามเพื่อสนับสนุนให้กัมพูชา ไปเสนอขึ้นทะเบียนมรกดโลกที่ยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ประเทศชาติเสียหายมากเพราะอำนาจการบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ที่กัมพูชา"นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น การรีบร้อนในการลงนาม เพื่อสนับสนุนกัมพูชาของ นายนพดล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทั้งๆที่มีเวลาในการพิจารณา ถึง 2 ปี ทำให้ผมมั่นใจว่า ข่าวคราวที่ออกมาว่าการเสนอขึ้นทะเบียนเขาพระวิการกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่าง น่าจะเป็นจริง อีกทั้ง การให้สัมภาษณ์ของ เตียบันที่ เกาะกง ก็ชัดเจนว่า น่าจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เกิดขึ้น





"ครั้งแรกที่ผมได้ข่าวว่ามีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ผมแค่ฟังหูไว้หู ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น แต่หลังจากที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ของไทยไปลงนามกับกัมพูชาและเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้ง รีบนำข้อเสนอดังกล่าวต่อ ที่ทำการยูเนสโก้ ทำให้มั่นใจว่า สิ่งที่เคยฟังหูไว้หูในเรื่องผลประโยชน์น่าจะเป็นเรื่องจริง และคงจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เกิดขึ้นแล้ว" ดร.อดุลย์ กล่าว





ดร.อดุลย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่นายนพดล ดำเนินการจึงเป็นเรื่องที่ประเทศเสียประโยชน์อย่างมาก และการดำเนินการยังปกปิดข้อมูลการเซ็นสัญญาร่วมไม่ได้เปิดเผยให้กับสาธารณะชนรับรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ายอมรับกันได้ยากมาก และน่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์มากกว่า เพราะท่าที่รีบร้อนของ รัฐมนตรีต่างประเทศที่รีบเซ็นลงนามโดยที่ไทยไม่ได้ประโยชน์เลย ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับยูเนสโก ไทยสามารถคัดค้านได้หรือไม่ ดร.อดุลย์บอกว่า หลังจากนี้ แล้ว อาจจะเป็นเรื่องยากเนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ไปเซ็นรับรองแผนที่ของกัมพูชา ถือเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลก อาจจะไม่รับพิจารณา





นอกจากนี้ ดร.อดุลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อ2สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือ แต่งตั้งคณะกรรมการมรดกโลกชุดใหม่ เดิมมีชื่อผมเป็นที่ปรึกษา แต่ล่าสุดพบว่า ไม่มี ซึ่งก็ไม่เป็นไรเชื่อว่าคณะกรรมการชุดใหม่ น่าจะสามารถเรียนรู้งานได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ได้ มีคำสั่งการเปลี่ยนแปลงประธานคณะกรรมการมรดกโลกคนใหม่แล้ว จากเดิมที่มีศ. ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ เป็นประธาน มาเป็นนายปองพล อดิเรกสาร อดีต รมว.ศึกษาธิการ(1ใน 111คนที่ถูกห้ามเล่นการเมือง5ปีของพรรคไทยรักไทย) พร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชุดนี้กว่า 10 คน อาทิ ดร.มานิตย์ ศิริวรรณ ออกจากการเป็นกรรมการมรดกโลกในประเทศไทย โดยคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งหมดจะเป็นผู้เดินทางเข้าร่วมการประชุมมรดกโลกที่เมืองคิวเบก ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 2-10 ก.ค. นี้









อย่างไรก็ตามแหล่งข่าว จากคณะกรรมการมรดกโลกประเทศไทยคนหนึ่ง กล่าวว่า การลงนามรับรองแผนที่ของกัมพูชาของ นายนพดล ถือเป็นครั้งแรกในการตกลงยกดินแดนให้กัมพูชาอย่างเป็นทางการ หรือเรียกว่าเป็นการเสียดินแดนครั้งแรก
เนื่องจากที่ผ่านมา หลังจากที่ ศาลโลกในปี 2505 ตัดสินให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่ดินแดนเป็นของไทยนั้น ได้มี มติครม.สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกมาเพียงเรื่องของเขตแดนในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มีข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก "การที่รัฐมนตรีต่างประเทศไปเซ็นรับรองถือเป็นครั้งแรกของการยอมรับกรณีที่พิพาทที่ดินระหว่างไทยกับกัมพูชาเพราะที่ผ่านมา ไทยไม่เคยยอมรับในเรื่องนี้เลยเพราะศาลโลกตัดสินแล้วว่า ดินแดนเป็นของไทย การที่ตัวอาคารของเขมรมาตั้งในดินแดนไทยก็ไม่มีปัญหา และเรายังมีอำนาจบริหารแผ่นดินของเรา









แต่การรัฐมนตรีต่างประเทศไปเซ็นรับรองแผนที่กัมพูชาเท่ากับยอมรับยกพื้นที่ให้กัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์" นอกจากนี้แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่น่าห่วงคือการที่ไทยยอมรับในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 40 ตารางกิโลเมตร ทั้งๆที่เขมรเองไม่เคยอ้างสิทธิ์ดังกล่าว เท่ากับ เป็นการเสียประโยชน์ด้วยเช่นกัน ทำให้น่าจะตั้งข้อสังเกตว่า อาการรีบร้อนและการตกลงแบบนี้ น่าจะมีปัญหาการเมืองเกี่ยวข้องด้วย "การที่รัฐมนตรีต่างประเทศเซ็นลงนามรับรอง แผนที่กัมพูชาและแผนที่ฉบันนั้นจะถูกส่งไปยัง ยูเนสโก ซึ่งเป็นองค์กระระหว่างประเทศ ถือเป็นการยอมรับยกดินแดนให้กับกัมพูชาครั้งแรก หรือเรียกว่าไทยเสียดินแดนครั้งแรกด้วย"
ที่มา : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์,กรุงเทพธุรกิจ











นักวิชาการไทยคดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดข้อตกลงร่วมไทยกัมพูชา ฟันธง นพดล ลงนามขัดต่อมติ ครม.2505 และข้อตกลงผูกพันให้ไทยเสียดินแดนเผยพิรุธไทยยอมรับแผนที่กัมพูชา 1 ต่อ 2 แสนที่กินแนวเส้นเขตแดนเข้ามาในฝั่งแผนที่ไทย เตรียมตั้งโต๊ะระดมนักวิชาการ ประชากร เปิดหลักฐาน ล่ารายชื่อยืนคัดค้านคณะกรรมการมรดกโลก ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร






กรณีนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เซ็นลงนามรับรอง การขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา ทำให้นักวิชากร นักโบราณคดี ออกมาโต้แย้งถึงแนวเขตที่ การลงนามอาจทำให้ไทยเสียดินแดน วันนี้ (22 มิ.ย) สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยเชี่ยวชาญระดับ 9 และ นายประภาสิทธิ์ แก้วมงคล ผู้ช่วยนักวิจัย ได้ออกมาตั้งข้อสังเกต โดยนำเอาแถลงการณ์ร่วมข้อตกลงที่ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศได้เซ็นลงนามกัมพูชาออกมาเปิดเผย ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องออกมายืนยันเนื่องจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ออกมาชี้แจงว่าไทยไม่เสียดินแดน แต่ เมื่อมีการศึกษาบันทึกข้อตกลงร่วมของไทยทั้ง 6 ข้อพบว่า ไทยเสียเปรียบและอาจจะเสียดินแดนในอนาคต โดยยกประเด็นที่สำคัญคือข้อตกลงข้อแรกระบุว่า ไทยจะสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ที่ยูเนสโกจัดประชุม ครั้งที่ 32 เดือน กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองคิวเบก แคนาดา โดยการกำหนดเขตหมายเลข1 จัดทำแผนที่โดยกัมพูชา และหมายเลข 2 ซึ่งเป็นพื้นที่กันชน จัดทำแผนที่โดยกัมพูชาชานกัน ส่วนข้อตกลง 2 ที่ระบุว่า เพื่อความปองดองระหว่างกัมพูชาและไทย จะยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยละเว้นพื้นที่ ส่วนหนือและตะวันตก ไม่ขอประกาศว่าเป็นพื้นที่ของใคร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นทมี่ดินมีข้อพิพาทกรณีทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลกเมตร และเป็นข้อผูกพันธ์ที่จะพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในอีก 2 ปีข้างหน้า


ม.ล. วัลย์วิภา กล่าวว่า แม้ข้อตกลงที่ 2. จะละเว้นการชี้แนวเขตในพื้นที่พิพาทว่าเป็นแนวเขตแดนของใคร แต่ ข้อตกลงข้อที่ 1 รัฐบาลไทยได้ยอมรับเส้นเขตแดน ตามแผนที่ของกัมพูชา ที่ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนที่กินลึกเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนที่มีปัญหา และไม่ยึดแผนที่ฉบับเดิมของไทยตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 "ดิฉันคิดว่าการลงนามในครั้งนี้ไม่เป็นไปตาม มติ ครม. 2505 เรื่องเนเขตแดน แต่ไม่แน่ใจว่าในทางกฏหมายจะถือว่าเป็นการยกเลิกมติ ครม. 2505 หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นหมายความไทยอาจต้องเสียดินแดน เนื่องจากแผนที่ของกัมพูชานั้นได้ยึดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในพื้นที่พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไทยยึดถือแนวเขตแดน L7017 โดยเส้นเขตแดนดังกล่าวได้เขียนครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่าอยู่ในฝั่งไทย ม.ล. วัลย์วิภา กล่าวว่า ตามคำตัดสินของศาลโลก 2505 ได้ตัดสินเฉพาะตัว ปราสาทพระวิหาร แต่ไม่ได้มีอำนาจชี้เส้นเขตแดน ทำให้ที่ผานมาไทยและ กัมพูชาต่าง ถือแผนที่คนละฉบับ โดย กัมพูชายึดถือแผนที่ปักปัน มาตรส่วน 1.2แสน และไม่เคยยอมรับแผนที่ของไทย ซึ่งยึดถือตามแผนที่ มาตรส่วน 1ต่อ5หมื่น ตามมติครม.2505
"สรุปว่าทั้งไทยและกัมพูชาต่าง ยึดถือแผนที่คนละฉบับ แต่ลบะฝ่ายก็ยึดถือแผนที่แนวเขตของตัวเอง ทำให้มีพื้นที่พิพาท ระหว่างแนวเขตที่มีปัญหา 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามที่เป็นข่าว เพราะฉะนั้นการที่ นายนพดล บอกว่า การเสนอปราสาท เขาพระวิหารไม่ต่างจากบ้านของเขาที่จะทำรั้วบ้าน ด้านละ30 เมตร ห่างจากตัวบ้าน 40 เมตรไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสาระมันอยู่ที่ เขตแดนของใครนั้นจึงเป็นคำชี้แจงที่ไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างไม่มีใครยอมรับในดินแดนตามแผนที่ของแต่ละฝ่าย แล้วจะบอกว่าเขตของเขาเขตของเราจึงไม่ถูกต้อง แต่การที่ไปลงนามร่วมกับกัมพูชา จึงน่าจะไม่ต่างจากการยอมรับแผนที่กัมพูชาและอาจหมายถึงการเสียดินแดน" ม.ล.วัลย์วิภา กล่าว






ม.ล วัลย์วิภา กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบข้อตกลง เท่ากับการยอมรับแผนที่กัมพูชาเพราะพื้นที่ตามผังแนวขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร นั้นมีแผนที่ตามพระราชกฤษฏีกาของกัมพูชาแนบท้าย ตามแนวเขตแดนที่กัมพูชายึดถือ คือ 1 ต่อ 2 แสน จึงเท่ากับไทยอาจจะเสียดินแดนในพื้นที่ดังกล่าวไปด้วย "การที่รัฐบาลอ้างเพียงแค่การรับรองตัวปราสาทฯ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในแถลงการณ์จะมีผลต่อการรับรองแผนที่ที่มีเส้นแบ่งเขตแดนไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 พร้อมตั้งข้อสังสัยว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 เช่นกัน รวมทั้งในแถลงการณ์ก็ไม่ได้ระบุว่า หลังจากนี้ 2 ปี หากไม่สามารถตกลงกันได้ ในเรื่องการพัฒนาร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันน่าจะตกไปเพราะว่า ในข้อแรกไทยได้ยอมรับแผนที่กัมพูชาโดยยอมรับว่า พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นของกัมพูชาไปแล้ว ในทางกฎหมายคงมีปัญหา เหมือนการต่อสู้คดีเรื่องเขาพระวิหารในศาลโลกในอดีตที่ไทยแพ้กัมพูชา"



ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบแถลงการณ์ร่วม จึงสรุปได้ว่า การลงนามของ รัฐมนตรีต่างประเทศ ขัดกับ มติครม.2505 นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ เอาอำนาจอธิปไตยของไทยไปจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยยอมรับแนวเขตแผนของกัมพูชา และมีการลงนามร่วมอย่างชัดเจนซึ่งจะมีผลบังคับตามข้อผูกพันในแถลงการณ์ในอนาคตเกิดขึ้น นอกจากนี้ เพื่อคัดค้านการลงนามดังกล่าว ในวันอังคารที่ 24 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. จะเชิญชวนองค์กรภาคเอกชน นักวิชาการ และผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องเขาพระวิหาร มาร่วมศึกษาแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา และเอกสารการยื่นขอจดทะเบียนมรดกโลก เพื่อดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชนในการคัดค้านการยื่นขอจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อไป

"รัฐบาลออกมาตอบคำถามดูทุกอย่างง่ายมาก แต่เนื้อหาสาระ ไม่สามารถชี้แจงอะไรที่ชัดเจนได้เลย ทุกอย่างดูมันง่ายหมด แต่ไม่ได้ตอบคำถามอะไรเลย ขณะที่ความจริงคือ ไทยจะเสี่ยงเสียดินแดน ซึ่งเรื่องนี้อันตรายมาก" ด้านนายประกาสิทธิ์ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า การขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ไม่ล้ำแดนไทยนั้น ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า แขตแดนไทยตามแผนที่ซึ่งนายกฯกล่าวอ้างนั้น เป็นเรา เราเข้าใจฝ่ายเดียวหรือไม่ แล้ว กัมพูชาเขารับรู้แนวเขตแดนตามแผนที่ไทย ว่าอยู่ตรงไหน ไม่มีความหมายอะไรเลย หากกัมพูชาเขายึดแผนที่ของเขาเป็นหลัก เพราะคำว่าพื้นที่ทับซ้อนนั้นจะเกิดขึ้น ได้จะต้องใช้แผนที่ของ 2ประเทศ ร่วมกัน ไม่ใช่การยึดแนวเขตของกัมพูชา ซึ่งหากยึดแนวเขตของกัมพูชา ไม่ต่างจากการยกพื้นที่ทับซ้อนของไทย ให้กับกัมพูชาเลย
Tag (ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง): สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นพดล ปัทมะ ปราสาทเขาพระวิหาร ไทยเสียดินแดน เขมร


อ่านเรื่อง การบุกรุกเขาพระวิหารคร่าวๆ

ประวัติฮุนเซน

กรรมของสีหนุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม