วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ความหมายที่ถูกต้องของ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และ ข้ารองบาท





คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นั้น ได้ยินกันมามาก แต่กลับหาคนที่เข้าใจความหมายที่แท้จริงได้น้อยมาก

พวกหนักแผ่นดินบางคนโชว์โง่ เพราะมักเอาความหมายผิดๆ ของคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาใช้โจมตีฝ่ายผู้จงรักภักดี เช่น ไม่อยากเป็นฝุ่นใต้ตีนใคร พวกคลั่งเจ้าเป็นพวกฝุ่นใต้เท้า เป็นต้น

การที่พวกหนักแผ่นดินใช้คำด่านี้กับฝ่ายจงรักภักดี กลับเป็นการแสดงให้เป็นถึงความโง่เง่าเบาปัญญาของพวกหนักแผ่นดินเองนั่นแหล่ะ เพราะพวกนี้คิดว่า คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งแปลตรงตัวว่า ใต้ฝุ่นเท้า หมายถึงประชาชนผู้จงรักภักดี?

ในความเป็นจริงคำว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หรือใต้ฝ่าพระบาท ไม่ได้หมายถึงตัวประชาชนที่เป็นผู้พูด  แต่หมายถึงเจ้านายระดับสูงตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้า พระองค์เจ้า ขึ้นไปจนถึงพระมหากษัตริย์ ตามพระอิสริยยศของแต่ละพระองค์ ต่างหาก

คำว่า ฝ่าพระบาท หรือใต้ฝ่าพระบาท หรือใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงเป็นสรรพนามบุรุษที่2

ส่วนประชาชนอย่างเรา เราจะใช้คำว่า ข้าพระพุทธเจ้า หรือ เกล้ากระหม่อม แทนตัวผู้พูดที่เป็นชาย และเกล้ากระหม่อมฉัน แทนตัวผู้พูดที่เป็นหญิง เวลาพูดถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงครับ

ต่อมา ก็พูดสั้นๆเป็น หม่อมฉัน

ส่วนคำว่า เกล้ากระหม่อม ก็แปลว่า ผมบนหัวของเรา ซึ่งต่อมาสรรพนามบุรุษที่1ของผู้ชาย จึงใช้คำว่า ผม แทนตัวเองเวลาพูดกับคนอื่นๆอย่างสุภาพไงครับ

(คนไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่เคารพสักการะสูงสุด พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งกว่าผู้ใดในโลกเป็นผู้ที่พุทธศาสนิกชนบูชาและเทิดทูนยกย่องสูงสุด พุทธศาสนิกชนจึงเรียกตัวเองว่าเป็น ข้าของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการแสดงการยกย่องพระเจ้าแผ่นดินจึงนำคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า มาใช้เป็น คำสรรพนามแทนตัวเองเมื่อพูดกับพระเจ้าแผ่นดิน / ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล )

-------------------

คำว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีที่มาจาก 2 สันนิษฐาน

ข้อสันนิษฐานแรก

ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเรียกแทนตัวเราเองด้วยของที่สูงที่สุดในร่างกายของเรา ก็คือ ผมหรือกระผม ในเวลาที่เราคุยกับผู้ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กว่า หรือมียศฐาบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่าเรา นั่นถือเป็นการที่เราอ่อนน้อมถ่อมตัวให้เกียรติผู้ใหญ่ท่านนั้นๆ

ซึ่งวัฒนธรรมนี้มาจากคติที่ว่าไม่ยกตนเสมอท่าน เมื่อเราควรเคารพให้เกียรติผู้ใหญ่ เราจึงไม่ควรเรียกชื่อของท่านต่อหน้าท่านโดยตรง แต่เราจะเรียกสิ่งที่ต่ำที่สุดของผู้หลักผู้ใหญ่แทน ซึ่งก็คือ สิ่งที่อยู่ใต้ของเท้า หรือใต้เท้า (สรรพนามบุรุษที่2) นั่นเอง

ซึ่งคำว่า ใต้เท้า จึงใช้กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นสามัญชน

ส่วนฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าพระบาท ใช้กับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

ส่วนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์และพระราชินี เท่านั้น

ฉะนั้นพสกนิกรและประชาชน จึงไม่ใช่ฝุ่นใต้พระบาทของเจ้านายชั้นสูงนะครับ โปรดทำความเข้าใจเสียใหม่ด้วย

แต่คนมักแปลผิด เพราะเห็นมีคำว่าปกเกล้าปกกระหม่อมมาต่อท้าย 

"ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ขอเดชะ"

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงหมายถึงในหลวง และพระราชินี

ปกเกล้าปกกระหม่อม หมายถึง คุ้มครองตัวเรา

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม จึงแปลความทั้งหมดว่า ในหลวงทรงคุ้มครองเรา

-----------------------

ข้อสันนิษฐานที่2

รากศัพท์คำว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มาจากพุทธประวัติ

ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายศรีโพธิ์ ศิลาน้อย ที่วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันเสาร์ 18 มิ.ย.2554 ที่ผ่านมา ดร.ละเอียด ศิลาน้อย บุตรชายคนที่สองของผู้ตาย เขียนเรื่องที่มาและความหมายของคำกราบ บังคมทูล ของคำขอเดชะ ฝ่าละลองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เอาไว้ โดยเริ่มตั้งคำถามว่า

ทำไมเราเอ่ยเรียกขานพระองค์ท่านอย่างนั้น?

ก่อนจะศึกษาให้ดี และเข้าใจได้โดยง่าย ดร.ละเอียดขอให้ลองอ่านประวัติพระกาฬุทายี

พระกาฬุทายีเกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ เติบโตมาด้วยกัน เป็นสหายรักใคร่ ชอบใจ คุ้นเคยกัน รู้ใจกันดี มีความฉลาดเฉลียวในทางกฎหมาย ต่อมาได้เป็นอำมาตย์ในราชสำนัก

หลังเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงติดตามข่าวเมื่อทราบว่าตรัสรู้ และกำลังเผยแผ่ พระธรรมวินัยในแคว้นมคธ โปรดให้อำมาตย์นำบริวารไปกราบทูล ขอให้เสด็จมากบิลพัสดุ์

แต่อำมาตย์นับแต่คนที่ 1 ถึงคนที่ 9 ไปถึงแล้วฟังธรรมแล้ว ก็สำเร็จพระอรหันต์ บวชอยู่กับพระพุทธเจ้า ไม่มีใครกลับมาส่งข่าวแม้แต่คนเดียว

อำมาตย์กาฬุทายีถูกเลือกเป็นคนที่ 10 เพราะได้ชื่อว่าเป็นอำมาตย์ที่จงรักภักดีมั่นคงต่อราชสำนักที่สุด ทั้งยังเป็นผู้คุ้นเคยกับพระพุทธองค์มาก่อน เมื่อไปถึงก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับ 9 อำมาตย์ที่มาก่อนแล้ว

เมื่อฟังธรรมเทศนาจนเกิดปัญญาบรรลุพระอรหันต์ มหาอำมาตย์กาฬุทายีและบริวารก็ได้ทูลขอการบรรพชาอุปสมบทตามกฎพระวินัย ว่า

“ขอข้าพระองค์ทั้งหลาย พึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

พระพุทธองค์จึงทรงยื่นพระหัตถ์ออกมา พร้อมทั้งตรัสพระวาจาว่า “เธอทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด”

เมื่อบวชแล้ว ใกล้เข้าพรรษา พระกาฬุทายีเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม จึงทูลเชิญพระบรมศาสดาไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนา พระกาฬุทายีก็ขอล่วงหน้าไปก่อน เพื่อถวายพระพรให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ

พระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ทรงต้อนรับพระกาฬุทายีด้วยความเคารพเลื่อมใส ถวายอาหารบิณฑบาตมิได้ขาดทุกวัน พร้อมกันพระกาฬุทายีก็ได้แสดงธรรมโปรดพระราชาและบริษัท ทำให้พระประยูรญาติและชาวกรุงกบิลพัสดุ์เป็นอันมากเกิดศรัทธา

60 วันหลังจากนั้น พระศาสดาจารย์จึงเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ดร.ละเอียดเขียนว่า เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงนั้น น่าสนใจมาก

เมื่อเสด็จโปรดพระประยูรญาติใหม่ๆ กษัตริย์ที่เป็นพระญาติซึ่งมีอายุมากกว่าได้มีทิฐิมานะถือตัวถือตน ไม่ยอมเข้ามาเฝ้าใกล้ๆ ไม่ยอมแสดงคารวะพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะถือว่าพระพุทธเจ้าอายุอ่อนกว่า ผลักให้พระราชกุมารผู้เยาว์วัยมานั่งข้างหน้า

พระพุทธเจ้าต้องการทรมานพระประยูรญาติ ให้คลายมานะทิฐิ จึงทรงกระทำนิมิตเสมือนเสด็จลอยขึ้นอยู่เหนือศีรษะของพระประยูรญาติ ผงละอองจากธุลีพระบาทได้โปรยปรายตกลงยังพระเศียรของพระประยูรญาติเหล่านั้น

พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาเห็นดังนั้น ก็อัศจรรย์ใจ ประนมมือขึ้นถวายนมัสการ แล้วกราบทูลว่า

ตอนประสูติวันแรก ก็แสดงปาฏิหาริย์ขึ้นไปสถิตอยู่บนชฎาของดาบส (ฤาษี ครูของราชตระกูล)

พระบิดาก็แสดงความเคารพเป็นครั้งแรกแล้ว

ต่อมาระหว่างพิธีแรกนา พระราชกุมารประทับอยู่ใต้ต้นหว้า เงาร่มไม้ก็มิได้เคลื่อนไปตามแนวตะวัน แม้เป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว แต่ทว่ายังคงทอดเงาบังแดดคุ้มครองพระวรกายของเจ้าชายอยู่ดังเดิม พระบิดาก็กราบมนัสการเป็นครั้งที่สอง!

และครั้งนี้...ครั้งที่แสดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ และละอองธุลีพระบาทได้หล่นสู่เศียรเกล้าของเหล่าพระประยูรญาติทั้งหลาย...พระบิดาก็กราบมนัสการเป็นครั้งที่สาม!



เรื่องราวจากพระพุทธประวัติตอนนี้ ดร.ละเอียด ศิลาน้อย สันนิษฐานว่า นี่จึงอาจจะเป็นที่มาของการกราบถวายบังคมทูล หรือการถวายพระฉายาแด่พระราชา ด้วยการยกย่องอย่างสูงว่า ทรงเป็นผู้ที่มี “ ฝ่าละอองธุลีพระบาท (ของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ปกเกล้าปกกระหม่อม”

เมื่อเรากราบบังคมทูล เราก็ขอเดชแห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ได้รับฝ่าละอองธุลีพระบาทแห่งพระบรมศาสดาปกเกล้าปกกระหม่อม ได้ช่วยคุ้มครองเราด้วย...นั่นเอง.

คอลัมภ์ บาราย ไทยรัฐ


(ผมขอแปลความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ วรรณะกษัตริย์ คือผู้ที่ได้รับละอองธุลีพระบาทของพระพุทธเจ้า นั่นเอง)

---------------------------

แล้วประชาชนควรอยู่ตรงจุดไหน?

"ข้ารองบาท , ข้ารองพระบาท"

คำๆ นี้ต่างหากที่ประชาชนอยากจะใช้แทนตัวเองก็ได้ (ถ้าอยากจะใช้)

ซึ่งคำว่า ข้ารองบาท หรือข้ารองพระบาท นั้น สันนิษฐานว่า รากศัพท์น่าจะมาจากเวลาที่เจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์จะทรงขึ้นม้า

ทีนี้เมื่อม้าอยู่สูง ก้าวขึ้นลำบาก ข้าราชบริพารจะไม่แตะเนื้อต้องตัวเจ้านาย แต่จะก้มตัวลงเป็นบันไดเพื่อให้เจ้านายเหยียบเพื่อจะขึ้นไปบนม้าได้ง่าย

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ข้ารองพระบาท ก็คือ ข้าราชบริพารก้มตัวรองพระบาทให้เชื้อพระวงศ์ก้าวขึ้นที่สูง ไงครับ

ซึ่งกรณีแบบนี้มีให้เห็นในทุกประเทศ ในซีรีย์เกาหลีเอง ผมก็เคยเห็นบ่อยๆ เวลาผู้หญิงจะขึ้นม้า ผู้ชายก็มักจะก้มตัวลงเป็นบันไดให้ผู้หญิงเหยียบเพื่อขึ้นม้าได้ง่าย เพราะไม่อยากเสียมารยาทไปแตะต้องตัวผู้หญิง

ถือว่าเป็นสุภาพบุรุษที่ดียอมเสียสละให้สุภาพสตรีเหยียบเลยนะครับ

ซึ่งก็เป็นต้นกำเนิดของสำนวนที่ว่า "ยอมเป็นบันไดให้เขาก้าวขึ้นไป"

ลองดูรูปตัวอย่างจากซีรีย์เกาหลี ที่พระเอกก้มตัวลงเป็นบันไดให้นางเอกเหยียบขึ้นบนหลังพระเอก ในการขึ้นหลังม้า













ซึ่งถ้าจำไม่ผิด เรื่องนี้พระเอกจะเป็นองครักษ์ที่คอยปกป้องนางเอกที่เป็นเจ้าหญิง

การที่ใครสักคนยอมเป็นบันไดให้คนอื่นก้าวขึ้นไปในจุดที่สูงกว่าตนเอง ถ้าเต็มใจทำให้ ก็นับว่า เป็นคนที่เสียสละเพื่อคนอื่น

การจะช่วยให้สุภาพสตรีขึ้นหลังม้า อาจไม่ต้องก้มแบบในรูปด้านบนก็ได้ ถ้าสุภาพสตรีเริ่มชำนาญในการขึ้นม้ามากขึ้น ผู้ชายก็อาจแค่นั่งลงและชันเข่าข้างใดข้างหนึ่งเพื่อเป็นบันไดตามรูปนี้



-----------------

เมื่อเรารู้ความหมายของที่มาของคำว่า ข้ารองบาท แล้ว เราก็จะรู้ว่า ความจริงคำว่า "ข้ารองบาท" คือ การยอมเป็นบันไดให้ผู้อื่นก้าวขึ้นไปนั้น ซึ่งไม่ได้แปลว่า ขี้ข้า แต่อย่างใด

แต่หมายถึง ใครก็ได้ที่ยอมเป็นบันไดให้ผู้อื่นใช้ก้าวขึ้นสู่จุดที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง หรือฐานะ หรือขึ้นม้า เช่น สุภาพบุรุษช่วยสุภาพสตรีที่ไม่ชำนาญในการขึ้นม้า เป็นต้น

ดังนั้น ข้ารองบาท ก็คือ ผู้ช่วยเหลือกษัตริย์ในการขึ้นทรงม้า ข้ารองบาทถือเป็นผู้ที่มีเกียรติยศ มีตำแหน่ง เช่น เป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เท่านั้น ที่จะได้รับโอกาสทำหน้าที่นี้ เปรียบเสมือนเป็นองครักษ์ผู้ปกป้องกษัตริย์ในยามออกศึกนั่นเอง

หากเป็นสมัยพุทธกาล ก็เปรียบเสมือนเป็นนายฉันนะ ผู้ช่วยพาเจ้าชายสิทธัตถะขึ้นม้าออกจากวัง


ภาพ นายฉันนะรอรับเสด็จเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนทรงม้าออกจากวัง ฝีมือวาดของครูเหม เวชกร


-----------------------------------------

เพลง ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป





4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม, 2555 07:14

    คุณใหม่ เมืองเอก คงต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลและเขียนนานพอดู แต่ก็ได้งานเขียนที่คุ้มค่า ประเทืองปัญญาดีมากๆ ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง การที่เรารู้จักกตัญญูต่อสถาบัน ที่พระองค์ท่านได้ทรงเหน็ดเหนื่อยเพิ่อประชาชนมาอย่างมาก คงไม่ได้หมายถึงเราเป็นพวกคลั่งเจ้าหรอกนะ ตอนนี้พระสุขภาพอ่อนล้าตามพระชนมายุ ก็ยังมีพวกคิดล้มเจ้าออกมาทำอะไรแผลงๆกันเยอะ ขอคุณพระสยามเทวาธิราชช่วยคุ้มครองพระองค์ท่านด้วยเถิด

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ06 กุมภาพันธ์, 2555 11:58

    ขอบคุณมาก

    k542

    ตอบลบ
  3. เนื้อหาดีมากครับคุณใหม่ ผมกำลังอยากอ่านตอนที่พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมโปรดญาติพอดีเลย เพราะไปฟังธรรมมาไม่ค่อยชัดเจนเพราะพระเขาจะเทศน์สั้น ๆ เพราะเป็นการยกตัวอย่าง แต่มาอ่านเจอพอดีก็เลยเข้าใจชัดดี ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณที่มอบความรู้ให้เด็กๆรุ่นหลังค่ะ

    ตอบลบ

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม