วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

น้าน้อย วีรสตรีแห่งหมู่บ้านลิ่มทองตามวิถีพอเพียง




จากข่าวพระราชสำนักเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ในหลวงทรงเป็นห่วงเรื่องปัญหาน้ำท่วม ในหลวงยังทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงการแก้มลิง และทรงแนะนำให้ทุกๆจังหวัดให้ขุดแก้มลิงเพิ่มขึ้นในทุกๆจังหวัด

และจากเกษตรทฤษภีใหม่ หรือเกษตรพอเพียงนั้นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ เรื่องน้ำ เพราะน้ำคือชีวิตและคือหัวใจของเกษตรพอเพียงด้วยเช่นกัน หากขาดน้ำเสียแล้ว ทฤษฎีความพอเพียงก็ย่อมไม่มีทางสำเร็จแน่นอน

********************************

ผมได้ดู รายการหมู่บ้านฐานไท ทางช่อง11 ของบริษัททีวีบูรพา (ในเวลา3ทุ่มทุกวันพฤหัสฯ เวลาที่หลายคนมัวแต่ดูละครน้ำเน่า) ดำเนินรายการโดยพิธีกรคือ คุณสุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ (พิธีกรคนค้นคน)

.
รายการได้นำผมไปรู้จักกับหมู่บ้านลิ่มทองจากจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้สร้างความประทับใจและความสุขให้แก่ผู้ชมอย่างผมมาก จนแทบน้ำตาไหลจากความปลื้มปิติในความสำเร็จของชาวบ้านลิ่มทอง จนอยากจะนำมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้รับรู้อีกทาง

เพราะหมู่บ้านลิ่มทองสามารถเอาชนะความแห้งแล้งได้ด้วยการเริ่มพึ่งพาตนเองของชาวบ้านในชุมชน สามารถดำเนินวิถีพอเพียงในการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ จนกลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่สามารถจัดการระบบน้ำที่อยู่นอกระบบชลประทานได้ด้วยตนเองแห่งแรก

รายการเริ่มต้นด้วยพิธีกร เกริ่นนำว่า ภาคอีสานนั้นแห้งแล้งมานาน แต่ที่จริงอีสานไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่อีสานขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำต่างหาก เพราะอีสานมีน้ำจากธรรมชาติปีละ 2 แสน 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่อีสานสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น 


หากอีสานสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มอีกเพียง 4 พันล้านลบ.ม.เท่านั้น อีสานจะมีน้ำเพียงพอแก่ความต้องการตลอดปี

รายการเริ่มด้วยการสัมภาษณ์ คุณสุดใจ หญิงวัยกลางคนๆหนึ่งที่ต้องออกไปทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ ร่วม 20 ปีตั้งแต่เรียนจบ ป.6 เท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องตกงานเพราะโรงงานปลดคนงานจากวิกฤติเศรษฐกิจ

คุณสุดใจ เล่าว่า ที่ไปทำงานในกรุงเทพฯเพราะตอนเด็กๆเคยดูทีวีดูละคร ก็อยากจะมีชีวิตที่สุขสบายเหมือนอย่างในทีวีเขาบ้าง เลยเข้าเมืองเพื่อไปทำงานโรงงาน เธอบอกว่า แม้มีรายได้มากขึ้นแต่รายจ่ายก็มากขึ้นตามไปเช่นกัน สุดท้ายก็คิดถึงบ้านอยากกลับบ้านเพราะทำมา 20 ปี ก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นเลย

พอได้ยินข่าวมาว่าที่หมู่บ้าน ไม่แห้งแล้งเหมิอนแต่ก่อนแล้ว พอตอนโรงงานปลดเธอออก เธอกลับดีใจเสียด้วยซ้ำว่า จะได้กลับบ้านเสียที และตอนนี้เธอก็กลับมาทำงานเกษตรพอเพียงที่บ้านแล้วโดยไม่คิดจะกลับไปทำงานในกรุงเทพฯ ได้อยู่กันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก บางมื้ออาหารก็ไม่ต้องซื้อ เพราะหาเอาได้ในที่ดินของตัว

แล้วทำไมหมู่บ้านลิ่มทองถึงได้ประสบความสำเร็จล่ะ?

ก็เพราะผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า น้าน้อย หรือคุณสนิท ทิพย์นางรอง หญิงชาวบ้านธรรมดาความรู้มีเพียงแค่ชั้น ป.4 แต่อ่านออกเขียนไม่ได้แล้ว เธอคือผู้ที่คิดนอกกรอบจากวิถีเดิม ๆ ของชาวอีสานทั่วไป ที่คิดว่า ทำอย่างไรที่บ้านเธอจะมีน้ำกินน้ำใช้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี และชาวบ้านไม่ต้องจากบ้านไปรับจ้างในเมืองอีก




จนเมื่อมูลนิธิศึกษาพัฒน์ เข้ามาอบรมให้ความรู้แนะนำเรื่องต่างๆแก่ชุมชนในหมู่บ้าน เช่นการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย การสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ ในตอนเริ่มต้นก็มีเพียงน้าน้อยกับชาวบ้านแค่เพียง 7 คนที่ยอมเข้ามาศึกษาแนวคิดใหม่ ๆ จากมูลนิธิ 


แต่ที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะความรู้เรื่องการจัดการน้ำ ที่ได้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เข้ามาสอน

น้าน้อยบอกว่า เดิมตัวเองก็อ่านไม่ออกเขียนก็ไม่ได้ แต่ก็อยากจะหาทางเอาชนะความแห้งแล้ง จึงกลับมาหัดอ่านเขียนใหม่อีกครั้ง และใช้เวลาศึกษาความรู้กับมูลนิธิและ สสนก. ร่วมปี ส่วนสามีของน้าน้อยก็บอกว่า เสียเวลาทำมาหากิน สู้ไปรับจ้างหาเงินดีกว่า 


ส่วนชาวบ้านก็หาว่าน้าน้อยบ้า มัวแต่มานั่งฟังคนอื่นไม่ไปทำมาหากิน เสียเวลา แต่น้าน้อยก็ไม่ละความพยายามจนสำเร็จ

ในตอนเริ่มต้นน้าน้อยก็เริ่มด้วยการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ก่อน โดย ดร.รอยล จิตรดอผู้อำนวยการ สสนก. ได้พามูลนิธิโคคาโคล่า เข้ามาในชุมชน โดย ดร.รอยล และมูลนิธิโคคาโคล่า ได้ถาม น้าน้อยและชาวบ้านว่ามีปัญหาเรื่องอะไรมากที่สุด ซึ่งน้าน้อยก็ตอบว่าปัญหาน้ำกินน้ำใช้เดือดร้อนมากที่สุด

และปัญหานำกินน้ำใช้ก็ได้รับการแก้ไขเป็นอย่างแรก ด้วยการสร้างประปาหมู่บ้านระบบ 9 ถังขึ้น โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคาโคล่า

สภาพพื้นที่
- ประสบปัญหาภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการ อุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ปัญหาฝนทิ้ง ช่วง และขาดแคลนแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้า แล้ง - โครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อและ กระจายน้ำเสื่อมสภาพ ไม่สามารถส่งสู่ชุมชน อย่างทั่วถึง
ปี 2548 • ชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน ร่วมออกสำรวจแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำในชุมชน • ประยุกต์ใช้งานแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมและ เครื่องจับพิกัดจุด GPS ในการสำรวจแนวขุดคลองส่งน้ำ • จัดตั้งคณะกรรมการน้ำชุมชน เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม
ปี 2549 • สร้างทีมนักวิจัยชุมชน เขียนรายงาน วิเคราะห์การแก้ปัญหาสภาพขาดแคลนน้ำของชุมชน ยื่นต่อสำนักชลประทานที่ 5 นครราชสีมา • จัดทำระบบประปาหมู่บ้าน พร้อมระบบบำบัดประปาน้ำใส ขยายการใช้งานเป็น 2 หมู่บ้าน 160 ครัวเรือน


เมื่อปัญหาน้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนได้รับการแก้ปัญหาแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่น้ำเพื่อการเกษตร ที่เป็นปัญหารากแก้วที่สำคัญและยากที่สุดในการแก้ไข และน้าน้อยก็เริ่มหาทางแก้ปัญหากับเพื่อนชาวบ้านด้วยการเดินสำรวจหาแห่งน้ำที่ใกล้ที่สุดก่อน เพื่อจะวางแผนการขุดคลองสง่น้ำเพื่อเข้ามายังหมู่บ้าน

ซึ่งแต่เดิมน้าน้อยคิดว่า ขนาดรุ่นปู่ยังทำไม่ได้เลย แล้วรุ่นเราจะทำได้หรือ งบประมาณก็ไม่มี
เมื่อก่อนชาวบ้านมักคิดว่า มันไม่น่าจะใช่หน้าที่เรา น่าจะเป็นห้าที่ของรัฐเท่านั้น

แต่เมื่อน้าน้อยคิดถึงเรื่องน้ำ น้าน้อยก็ไม่ละความพยายาม จึงร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านไม่กี่คนเดินสำรวจหาแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด เดินสำรวจหาแนวทางที่น่าจะขุดคลองส่งน้ำได้ น้าน้อยเดินกับพรรคพวกนานร่วมปีในการสำรวจ เดินตั้งแต่ 9 โมงเช้ากว่าจะได้เข้าบ้านก็หกโมงเย็น เป็นแบบนี้ทุกวัน

และแหล่งน้ำที่น้าน้อยพบว่าใกล้หมู่บ้านมากที่สุดคือคลองป่าปะคาบ ที่น่าจะขุดคลองเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านได้ใกล้ที่สุดประมาณ 3.6 กม. 


น้าน้อยบอกว่า พอได้เห็นแหล่งน้ำต้นทางก็เกิดกำลังใจมาก ฝันว่าสักวันจะได้น้ำไหลมายังบ้านตน

แต่ปัญหาก็คือการจะขุดคลองส่งน้ำได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินหลาย ๆ รายที่คลองจะถูกตัดผ่าน ซึ่งปัญหาที่ยากที่สุดก็คือ เจ้าของหลายๆคนไม่ยินยอมยกที่ดินให้ 


ซึ่งน้าน้อยต้องเดินทางไปขอร้องขอเจรจาบอกถึงประโยชน์จากคลองแก่เจ้าของที่ดินหลายๆคนที่ไม่เห็นด้วยนานนับปี แต่น้าน้อยและชาวบ้านที่ช่วยกันได้พูดจนเจ้าของที่ดินที่เคยไม่เห็นด้วยใจอ่อนในที่สุด 

ซึ่งน้าน้อยบอกว่า เรื่องคน คือปัญหาที่ยากที่สุดที่กว่าจะสำเร็จได้ ในขณะที่น้าน้อยเล่าถึงอุปสรรคที่ผ่านมาจนสู่หนทางแห่งความสำเร็จในวันนี้ เราจะเห็นน้าน้อยน้ำตาไหลอยู่เป็นระยะ ๆ

แต่ก็มีเจ้าของที่ดินบางรายก็เห็นด้วยและยอมเสียสละที่ดินให้แก่คลองของน้าน้อยทันทีก็มีเหมือนกัน เช่น ลุงเอื้อ และน้าสาว โดยเฉพาะ น้าสาว ที่ยอมเสียสละที่ดินของตัวเองถึง10ไร่จากที่น้าสาวมีที่ดิน 40ไร่ เพื่อขุดคลองส่งน้ำและขุดแก้มลิง(ตามแนวพระราชดำริ) ซึงน้าสาวบอกเหตุผลที่ยอมบริจาคว่า

"ตนเองก็อยากได้น้ำ เพราะที่ผ่านมาทำนาก็ไม่ค่อยได้พืชผล แม้ที่ดินหากคิดเป็นเงินก็มากอยู่ แต่ถ้าคิดเป็นน้ำใจมันมากกว่า และเพื่อช่วยให้แก้ปัญหาแห้งแล้งได้ ช่วยให้คนอื่นได้มีโอกาสทำกิน ได้ช่วยให้ชาวบ้านสามัคคีช่วยเหลือกัน เห็นความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านแล้ว น้าสาวบอกเธอได้กลับคืนมามากกว่า 10 ไร่ที่ให้ไปเสียอีก"

น้าน้อยก็บอกเหมือนกันว่า ก็มีเจ้าของที่บางคนที่มีที่ดินเพียงนิดเดียว แต่คลองจำเป็นต้องตัดผ่านที่ดินของเขาไปครึ่งหนึ่งของที่ดินที่เขามีอยู่ ก็คือที่ดินของน้าเรียง เพราะน้าเรียงมีที่ดินแค่เพียง4ไร่เท่านั้น และเป็นที่ดินแนวยาวตามแนวคลองที่จะตัดผ่าน 

ซึ่งน้าเรียง จะต้องเสียที่ดินถึง2ไร่ไป เพื่อให้คลองตัดผ่าน เพราะไม่มีทางอื่นแล้ว ถ้าน้าเรียงไม่ให้ที่ดินตรงนี้ คลองนี้ก็จะไม่สามารถสำเร็จได้

ทีแรกน้าเรียงก็ไม่อยากจะให้ แต่น้าน้อยก็อธิบายให้น้าเรียงได้เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับและบุญกุศลที่จะน้าเรียงจะได้รับมากจากการเสียสละเพื่อชุมชนครั้งนี้ 

สุดท้ายน้าเรียงก็ยอมยกที่ดินให้แต่ขอแลกกับน้าน้อยอยู่อย่างนึง ซึ่งน้าน้อยก็รับปากว่าจะให้ น้าเรียงแกขอแค่เพียงเมล็ดถั่วฝักยาวจากน้าน้อย 1 กระป๋องแลกกับที่ดินที่น้าเรียงต้องเสียสละถึง 2 ไร่

เมื่อเจ้าของที่ดินทุกคนยินยอมให้คลองส่งน้ำขุดผ่านแล้ว น้าน้อยก็เขียนโครงการเพื่อไปเสนอของบประมาณจากจังหวัดบุรีรัมย์ แต่เรื่องก็ถูกส่งไปสำนักงานชลประทานที่ 8 ต่อไปอีก แต่น้าน้อยก็ไม่ละความพยายาม ชักชวนชาวบ้านเหมารถหาค่าเดินทางค่าน้ำมันตามเรื่องให้ถึงที่สุด

สุดท้ายสำนักงานชลประทานก็บอกว่าโครงการคลองของน้าน้อยและชาวบ้านลิ่มทองได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ต้องรอจนถึงปี 2550 ถึงจะเริ่มขุดให้ได้ ซึ่งต้องรออีกหนึ่งปี ซึ่งน้าน้อยเริ่มสำรวจเส้นทางขุดคลองตั้งแต่
ปี 2548 และได้ทำเรื่องเสนอโครงการนี้ต่อจังหวัดบุรีรัมย์ในปี 2549

และในที่สุดโครงการขุดคลองชลประทานก็มาถึง โดยใช้งบในการขุดเพียง 800,000 บาทเท่านั้น ตามโครงการ80พรรษาส่งน้ำสู่นา
.
ด้วยวิธีการจัดการน้ำแบบที่น้าน้อยทำเป็นตัวอย่างให้แก่การพัฒนาระบบน้ำด้วยงบประมาณไม่มาก คือประมาณ 1 ล้านบาท สามารถครอบคลุมพื้นที่ถึง 3,000 ไร่


หากคนอีสานในที่อื่น ๆ มาทำแบบที่น้าน้อยทำให้ทั่วภาคอีสานทั้งระบบในเขตนอกชลประทานเดิม ซึ่งมีประมาณ 
100 ล้านไร่ ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นเพียง 3 หมื่นกว่าล้านเท่านั้น แต่ปัญหาก็คือต้องเริ่มจากการตกลงและร่วมมือกันในชุมชนเสียก่อนโดยไม่รอภาครัฐมาคิดให้

ปี 2550 • สำนักชลประทานฯ ลงมือขุดคลองส่งน้ำตาม แนวทางที่ชุมชนเสนอไว้ ระยะทาง 3.637 ก.ม.
• ชุมชนเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยขุดสระแก้มลิง 7 สระ รวม 14 ไร่ ความจุน้ำ 65,700 ลบ.ม.
• ชุมชนต่อเชื่อมระบบกักเก็บน้ำไร่นา โดยขุด สระลูกลิง จำนวน 10 สระ ภายใต้โครงการ 80 พรรษาส่งน้ำถึงนา
• แผนการปลูกหญ้าแฝกตามแนวคลองส่งน้ำ จำนวน 400,000 ต้น

เมื่อมีคลองส่งน้ำแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มมีในชุมชนหมู่บ้านลิ่มทอง แม้ในปีแรก ๆ ยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่มาปี 2552 นี้ ความสำเร็จได้เห็นอย่างขัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ชาวบ้านสามารถทำการเพาะปลูกตามวิถีพอเพียง ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ตลอดทั้งปี พอหมดหน้านาชาวบ้านก็สามาถปลูกผักปลูกผลไม้ เก็บเห็ดขายได้ทุกวัน มีรายได้ทุกวัน

ไม่เพียงแต่ชาวหมู่บ้านลิ่มทองเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากคลองส่งน้ำ แต่ชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงที่คลองตัดผ่านก็ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

แต่น้าน้อย คนเก่งของเราก็ยังไม่หยุดลงเพียงเท่านี้ เพราะยังมีชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ใกล้คลองส่งน้ำที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่น้าน้อยทำขึ้น น้าน้อยก็ยังอุตส่าห์หาทางช่วยเหลือเพื่อให้ชาวบ้านที่พื้นที่ใกล้เคียงเหล่านั้น สามารถเอาชนะความแห้งแล้งได้เหมือนอย่างที่หมู่บ้านลิ่มทองของน้าน้อยทำสำเร็จมาแล้ว

น้าน้อยบอกว่า เราจะอุดมสมบูรณ์ที่เดียวคงไม่ได้ ต้องให้คนอื่นอุดมสมบูรณ์ด้วย(สมบูรณ์แบบยั่งยืน)
.

บางพื้นที่เป็นที่สูง หน้าน้ำน้ำไม่ท่วม แต่หน้าแล้งกลับขาดแคลนน้ำ บางพื้นที่น้ำท่วมถึง แต่ก็ไม่ได้มีการกักเก็บ น้าน้อยคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะเฉลี่ยน้ำแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีระบบ ในที่ ๆ ขาดน้ำก็นำน้ำจากที่ ๆเกินไปให้ ส่วนที่ขาดแคลนในหน้าแล้ง จะทำอย่างไรให้สามารถมีน้ำเก็บไว้ใช้ยามขาดแคลน
.

น้าน้อยจึงมุ่งหน้าแก้ปัญหาให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงต่อไป พยายามหาทางเพิ่มแก้มลิงให้มากขึ้น เพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ และมีน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง
.
ปัญหาของน้าน้อยก็ยังเหมือนเดิมคือ ปัญหาเรื่องเจ้าของที่ที่น้าน้อยอยากให้ร่วมสร้างแก้มลิงในที่ของพวกเขา อาจไม่ยอมให้ที่ดินของเขาเข้าร่วมโครงการแก้มลิง 

น้าน้อยจึงพยายามเจรจาโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์ และชักจูงให้เจ้าของที่ดินทั้งหลายยอมเสียสละที่ดินเพื่อขุดบ่อทำแก้มลิง โดยไม่มีการซื้อหรือเช่าเลยที่ดินแม้สักแห่งเดียว 

แถมยังมีข้อแม้ว่า ต้องเผื่อแผ่แก้มลิงให้กับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในแก้มลิงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นด้วย ซึ่งขณะนี้แก้มลิงได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นระบบ ตอนนี้มีแก้มลิงมากถึง 14 แก้มลิงแล้ว
.
บ่อแก้มลิงตามแนวทางพระราชดำริในโครงการของน้าน้อย เป็นแก้มลิงที่ช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชน ด้วยความสามัคคีและเต็มใจ
.
ตอนนี้โครงการของน้าน้อยก็ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ชาวบ้านต่างให้การสนับสนุนทุกคน ทั้งหมู่บ้านของน้าน้อยและหมู่บ้านอื่นๆติดๆกันก็ทำเข้าร่วมโครงการของน้าน้อย

และอนนี้ชาวบ้านเริ่มกลับมาทำมาหากินกันที่บ้านเกิดกันเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องจากลูกจากเมียไปไหนอีก มีรายได้จากการเกษตรพอเพียง แต่กลับร่ำรวยขึ้นตามลำดับ เพราะมีรายได้แทบทุกวัน เก็บโน่นเก็บนี่ขายได้เป็นเงินทุกวัน
.
หมู่บ้านลิ่มทองได้กลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างกรณีศึกษาให้แก่ชุมชนอื่นๆ ดังขนาดที่นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลับแสตมป์ฟอร์ดยังมาดูงานที่หมู่บ้านลิ่มทอง
.
นักศึกษาและอาจารย์จากต่างชาติ ที่ให้สัมภาษณ์ต่างรู้สึกตื้นตันใจไปกับความสำเร็จของชุมชนหมู่บ้านลิ่มทองมาก มากจนบางคนดีใจจนเกือบน้ำตาไหล
.
ผมเองเมื่อดูรายการ หมู่บ้านฐานไท ในตอน หมู่บ้านลิ่มทองนี้ ผมเองก็รู้สึกปลาบปลื้มและร่วมชื่นชมในพลังความสามัคคีชองชาวบ้านไปด้วย
.
และที่ต้องยกย่องมากที่สุดก็คือ น้าน้อย หญิงชาวบ้านธรรมดาที่กลายมาเป็นผู้นำชุมชนตัวเล็กๆที่ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามอย่างไม่ย่อท้อ จนนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่หมู่บ้านจนๆแห้งแล้งในอีสานแห่งนี้ตนสำเร็จ
.
ผมขอร่วมอนุโมทนา และขออวยพรให้น้าน้อย วีรสตรีแห่งหมู่บ้านลิ่มทอง จงประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไปด้วยครับ
.
ผมขอขอบคุณคนดีๆแห่งแผ่นดินที่ชื่อ น้าน้อย หรือคุณสนิท ทิพย์นางรอง ครับ
.
หากอ่านบทความตอนนี้แล้วยังไม่ค่อยได้ใจ กรุณาไปดูclipรายการได้ที่

ดูคลิปรายการ หมู่บ้านลิ่มทอง ตอน1
ดูคลิปรายการ หมู่บ้านลิ่มทอง ตอน2
.
.
*******************************
.
บทความแนะนำใกล้เคียง
.
ความล้มเหลวของชาวนาไทยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
.
ทุนนิยมบริโภคหลอกใช้ชาวนาไทย
.
การลงทุนหรือการลงโทษ?

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 สิงหาคม, 2553 14:27

    ตื้นตันใจไปกับน้าน้อยด้วย แค่อ่านยังน้ำตาคลอเลย

    ตอบลบ

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม