วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ทุนนิยมบริโภคหลอกใช้ชาวนาไทย



.
วันนี้เผอิญได้ดูช่องทีวีไทย รายการทีวีสาธารณะ ได้นำสกู้ปเรื่องชาวนาขายข้าวมาให้ดู ซึ่งผมดูแล้วก็สงสารชาวนาไทยซ้ำซากอีกแล้ว ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังคร่าวๆนะครับ


สกู้ปชาวนาได้พาเราไปพบกับ เกษตรกร2คน(น่าจะเป็นสามีภรรยากัน)ที่กำลังนั่งดูรถเกี่ยวข้าวขนาดใหญ่ (จ้างเขาเกี่ยว) กำลังเกี่ยวข้าวในนาของพวกเขา


นางน้อง แซ่เฮง และนายสยามประสาท สัมฤทธิ์ เกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งชาวนาทั้งสองกำลังนั่งรอผลผลิตจากรถเกี่ยวที่กำลังทำงานอยู่ เพื่อรอเวลาจะได้นำข้าวไปขาย ทั้งสองยังไม่รู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่ แต่นางน้อง แซ่เฮงก็ยังหวังว่าน่าจะเหลือบ้าง หลังจากทำนาตลอดช่วง3เดือนที่ผ่านมา


และหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ ทั้งสองก็เดินทางไปขายข้าวที่โรงสี และได้รับเงินมาทันทีจากการขายเป็นเงินทั้งสิ้น 148,200บาท

และสิ่งแรกที่นางน้องต้องการจะทำหลังจากได้เงินค่าขายข้าวก็คือ นำเงินจากการขายข้าวไปใช้หนี้สินที่กู้มาใช้ทำนาที่ผ่านมา


แต่พอทั้งคู่ทั้งนางน้อง และนายสยามประสาท นำเงินทั้งหมดไปใช้หนี้ต่างๆเช่น ใช้หนี้เก่าน้ำท่วมคราวที่แล้ว , ค่าปรับดิน(ค่ารถไถ) , ค่าปุ๋ยค่ายา , ค่าจ้างคนงานทั้งหว่านทั้งพ่นยาทั้งใส่ปุ๋ย , ค่ารถเกี่ยว ฯลฯ และอื่นๆอีกจิปาถะ ทางรายการไม่ได้บอกละเอียดไว้


สุดท้ายพอใช้หนี้ทุกเจ้าหมด ชาวนาทั้งสองคนเหลือเงินกลับบ้านแค่25บาทเท่านั้น!?

นางน้องบอกนี่ยังโชคดีนะที่ยังเหลือ บางปีขาดทุนด้วยซ้ำ แล้วฤดูกาลปลูกครั้งหน้า เธอก็จะเริ่มต้นกู้เงินมาทำนาในวงจรเหมือนเดิมต่อไป


ทั้งหมดที่ผมเล่ามาจากสกู๊ปชาวนาเรื่องนี้ คือตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับชาวนาไทย ที่ทำนาเพื่อขายข้าวไปใช้หนี้ เพราะอะไรจึงเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ ซ้ำซากมาหลายสิบปี?


ผมได้เคยเขียนเกี่ยวกับชาวนามาครั้งนึงแล้ว(คลิกอ่าน ความล้มเหลวของชาวนาไทยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1) แต่ขอสรุปง่ายๆก็คือ


ระบบทุนนิยมหลอกให้เราทุกคนเชื่อว่าเงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกคนเลยมุ่งแสวงหาเงิน ชาวนาก็เช่นกัน อยากได้เงิน ยิ่งได้เงินมากก็ยิ่งดี ทำให้คิดว่าต้องขายข้าวให้มากขึ้นเพื่อจะได้เงินมากขึ้น


ทีนี้พอต้องการได้เงินมากๆ ก็เลยคิดเพิ่มจำนวนที่นาให้มาก ยิ่งมากยิ่งดี ผลผลิตต่อไร่ยิ่งสูงยิ่งดี คิดว่าเมื่อได้ผลผลิตมากก็ต้องได้เงินมากตามลำดับ


หลายคนหากมีที่มากก็ปลูกข้าวมากให้เต็มพื้นที่ บางคนมีที่นาน้อยก็ไปขอเช่าคนอื่นเพิ่ม ทีนี้พอเพิ่มจำนวนไร่นามาก ก็ทำภายในครอบครัวไม่ไหว เลยต้องจ้างคนมาช่วย อยากให้ได้ผลผลิตมาก ก็ต้องใส่ปุ๋ย ใส่ยาฆ่าแมลง


สุดท้ายก็จ้างมันหมดทุกขั้นตอน ต้นทุนสูงขึ้น พอเอาไปขาย หักต้นทุนแล้ว ก็ไม่เหลืออะไร


การคิดทำเพื่อขายเอาเงิน แต่กลับต้องเป็นหนี้ ขาดทุน ยากจน เพราะชาวนาหรือเกษตรกรส่วนใหญ่ไล่ตามกระแสทุนนิยม ไล่ตามเงิน? ที่ได้หลอกให้แสวงหาเงินก่อนที่จะหารับประทาน

ที่จริงหากชาวนาคิดทำเพื่อกินก่อน เหลือแล้วค่อยขาย คือคิดย้อนกลับวิธีคิดใหม่ แล้วก็จะเหลือกินเหลือใช้ในที่สุด ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงตอบโจทย์ปัญหาวงจรจนซ้ำซากนี้ได้
.
แนวคิดเดิมๆ
ปลูกมากเชิงเดี่ยว-->พึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นหลัก-->ขายผลผลิตหมดหน้าตักแบบไม่เหลือเมล็ดพันธุ์และอาหาร-->ได้เงินมา--->ซื้ออาหาร

แนวคิดทฤษฎีใหม่พอเพียง
ปลูกหลากหลายผสมผสาน-->พึ่งพาตนเอง-->ผลผลิตเน้นบริโภคในครัวเรือน-->เหลือแล้วค่อยขายได้เงิน



ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรตัวอย่างแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่ประสบความสำเร็จมีมากมายหลายคน เช่นที่ดังที่สุดก็เช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เกษตรกรที่เคยมีไร่มีนานับร้อยๆไร่ แต่ต้องยากจนและเป็นหนี้ท่วมหัว แต่เมือเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ทำเพื่อกินเหลือค่อยขาย ตอนนี้ผู้ใหญ่มีที่ดินเกษตรแค่9 ไร่ แต่ตอนนี้กลับร่ำรวยได้ เป็นต้น

****************************************


เป้าหมายสูงสุดของโครงการในหลวงไม่ใช่เรื่องแก้ปัญหาความยากจน?

ผมได้ฟังดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าเรื่องการทำงานของในหลวงเรื่องหนึ่งว่า โดยปกติในหลวงจะทรงเรียกข้าราชการที่ทำงานกับพระองค์ มาประชุมวางแผนงานต่างๆ


ในหลวงจะทรงเรียกข้าราชการเหล่านี้มาเข้าเฝ้าประมาณช่วงเย็น4-5โมงเย็น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมีดร.สุเมธ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งปกติทุกๆครั้งที่ในหลวงทรงงาน ในหลวงจะไม่ได้ประทับบนพระราชอาสน์(เก้าอี้ประทับ) แต่ในหลวงจะทรงประทับนั่งพับเพียบที่พื้น โดยมีแผนที่หรือเอกสารต่างๆวางอยู่ที่พื้น


และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ในหลวงทรงหันไปที่พระราชอาสน์ แล้วทรงตรัสถามขึ้นว่า


"ทำไม พระมหากษัตริย์ต้องทำงานเหล่านี้ด้วย? ทั้งๆที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีหน้าที่เหล่านี้สักหน่อย รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนกำหนดไว้ให้ทำ? ทำไปเพื่ออะไร" ในหลวงท่านทรงกำลังถามพระมหากษัตริย์ซึ่งแทนด้วยที่ประทับพระราชอาสน์

ข้าราชการที่กำลังเข้าเฝ้าถวายงานอยู่ ต่าง งง !


ในหลวงทรงทรงตรัส ว่า "ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนหรอก แต่ทำเพื่อรักษาประชาธิปไตยไทยให้อยู่รอดได้ต่างหาก เพราะหากประชาชนยังยากจน ประชาธิปไตยก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะหากประชาชนยังยากจน ยังอดอยาก พอใครเขาเอาเงินมาให้สัก500 ก็จะกาให้เขาแล้ว ประชาธิปไตยจึงไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง"

.
ดูคลิปรายการแผ่นดินไท ตอน แผ่นดินวิกฤติจากทุนนิยมเงินตรา
.
.


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ07 มีนาคม, 2552 01:55

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

    ตอบลบ

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม