วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งหากพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ก็จะทรงมีพระชนมพรรษาถึง2552+80=2632พระชันษา ผมเพิ่งออกไปไหว้พระจันทร์มาก่อนจะเขียนบทความ และพรุ่งนี้ก็จะออกไปไหว้อีกครั้ง
ผมไหว้พระจันทร์ดวงเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าทรงเคยทอดพระเนตรเห็น ผมระลึกถึงพระพุทธคุณผ่านไปยังดวงจันทร์ครับ
.
บทความนี้เขียนเท่าที่ผมคิดว่ารู้นะครับ แต่อาจจะมีบกพร่องได้ ฉะนั้นโปรดใช้วิจารณญาณด้วย เพราะผมเองก็เขียนตามที่ผมเข้าใจครับ หากมีข้อสงสัยประการใดกรุณาไปถามกับผู้รู้อีกทีนะครับ
**********************************
กิเสสที่ตัดยากที่สุด
คำถามนี้คงมีหลายๆคนเคยได้รับคำตอบมาหลายๆครั้งแล้ว แต่ก็อาจจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไปตามแต่ผู้ตอบเป็นใคร แต่ทั้งหมดนั้นก็คงเป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งสิ้น
แต่สำหรับผมนั้น ผมสนใจเรื่อง พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องกฏแห่งกรรมมาก เพราะใครทำกรรมใดไว้ก็จะได้ผลแห่งกรรมนั้นตอบสนอง
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เผชิญทุกข์อย่างไม่รู้จบสิ้น ก็เพราะสรรพสัตว์เหล่านั้นยังไม่สามารถหลุดพ้นผลแห่งกรรมได้หมดสักที
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงหาวิธีให้พ้นผลแห่งกรรม ซึ่งจะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด(วัฏสงสาร)อีก ซึ่งก็คือการสำเร็จอรหันต์เข้าสู่พระนิพพานนั่นเอง (เมื่อเข้าสู่พระนิพพานแล้วก็จะไม่ต้องใช้กรรมอีก)
และสิ่งที่จะทำให้พ้นผลแห่งกรรมได้ก็คือ การดับกิเลสให้สิ้น ซึ่งกิเลสมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัณหา
ซึ่ง ตัณหา ก็แปลว่า ความอยาก นั่นเอง
ตัณหา ความอยากนั้นเป็นกิเลสตัวสุดท้ายที่จะทำให้บรรลุถึงอรหันต์ เพราะในพระอนาคามีเองก็ยังไม่สามารถตัดความอยากได้หมดสิ้น (แต่เบาบางมากแล้ว)
เพราะอะไรขนาดพระอนาคามีที่ใกล้จะบรรลุอรหันตผลแล้ว ยังเหลือตัณหาอยู่? แต่เมื่อพระอนาคามีสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ตัณหาที่อยากจะเป็นพระอรหันต์ก็จะดับสิ้นไม่เหลืออีกทันที
ก็เพราะพระอนาคมีก็ยังอยากที่จะเป็นพระอรหันต์อยู่นั่นเอง แต่เป็นตัณหาในสัมมาทิฐิ ไม่ใช่มิจฉาทิฐิ เพราะตัณหามีทั้งดีและไม่ดี
(คนธรรมดาก็อยากเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันก็อยากจะเป็นพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีก็อยากจะเป็นพระอนาคามี พระอนาคามีก็อยากเป็นพระอรหันตร์ พระอรหันต์ทรงตัดความอยากได้แล้วเพราะถึงที่สุดแล้ว)
*****************************
กฏแห่งกรรม
หลายคนๆคงจะเคยคิดเหมือนกันใช่มั้ยว่า ทำไมบางคนถึงเกิดมารวย? บางคนถึงเกิดมาหน้าตาดี? บางคนทำไมถึงเกิดมาฉลาด? ทำไมบางคนเกิดมาโง่? บางคนทำไมถึงเกิดมายากจนข้นแค้น ทำไมบางคนถึงเกิดมาพิการ? ทำไม?
ในทางพระพุทธศาสนาเราให้กรรมเป็นสิ่งกำหนดว่าใครควรจะจุติเป็นไปภพไหนและอย่างไร เราไม่ได้อ้างว่า เป็นเพราะพระเจ้าทรงกำหนด หรือเทพเจ้าเป็นผู้กำหนด แต่พุทธศาสนาสอนว่า "เหตุแห่งกรรมคือตัวกำหนดผล"
เพราะหากเราเห็นว่าพระเจ้ามีตัวตนเป็นผู้ทรงกำหนด ก็จะทำให้เราคิดอคติต่อว่าพระเจ้าได้ว่า
"ทำไมพระเจ้าถึงไม่ทรงยุติธรมกับเราเลย ทำไมพระเจ้าถึงลำเอียงเช่นนี้" ซึ่งความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังเสียเปล่าๆ และเมื่อพาลโกรธพระเจ้าที่ทรงลำเอียงแล้ว ก็อาจทำให้คนผู้นั้นหลงผิดไปทำชั่วก็ได้
เพราะเมื่อคิดว่าพระเจ้าไม่เข้าข้างเรา แล้วทำไมเราต้องเชื่อพระเจ้าด้วย!?
ศาสนาพุทธจึงสอนให้คนเรานั้นเชื่อในผลแห่งการกระทำของตัวเอง ศาสนาพุทธจึงไม่ได้สอนให้เราพึ่งพระเจ้าหรือเทพเจ้าใดๆทั้งสิ้น แต่ให้เราเชื่อผลในการกระทำของตัวเองที่จะส่งผลว่าเราจะเป็นเช่นไรต่อไป
เมื่อเราเชื่อในผลแห่งกรรมหรือกฏแห่งกรรมหรือกรรมกำหนดแล้ว คำตอบที่เราสงสัยหลายอย่างๆก็จะมีคำตอบที่อธิบายได้
พระพุทธเจ้าเองก็เช่นกัน พระองค์ไม่ได้อยู่ดีๆก็จะได้ทรงสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ง่ายๆ แต่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรสะสมมานานหลายชาติแล้ว กว่าจะมาบรรลุธรรมด้วยพระองค์เอง
ใครก็ได้ที่มีความเพียร มีความตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตก็สามารถตั้งความหวังได้ทุกคน เพราะกฏแห่งกรรมให้สิทธิกับทุกคนเท่าเทียมกัน แต่จะเร็วจะช้าก็ขึ้นอยู่กับความปรารถนาและความเพียรของแต่ละคน
*****************************
หากไม่เชื่อเรื่องภพนี้ภพหน้าแล้วจะวุ่นวาย
หากคนเรายังมีความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวเรื่องกฎแห่งกรรมว่า หากเราทำชั่ว ผลกรรมก็จะส่งผลไม่ชาตินี้ก็ในชาติต่อไป
ซึ่งจะทำให้คนเรามีหิริโอตัปปะ ละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดสันติสุขได้ แต่หากคนเราไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมแล้วไซร้ ก็จะทำให้คนเราไม่เกรงกลัวต่อบาป ซึ่งก็จะทำให้สังคมและตัวเองก็ความเดือดร้อน และทำบาปได้เรื่อยๆ
ฉะนั้นขอฝากไว้ว่า เมื่อคนเราไม่กลัวบาปเมื่อใด สิ่งเดียวที่จะกำราบคนชั่วได้ ก็คือ กฎหมาย นั่นเอง
แต่หากกฎหมายไม่สามารถกำราบให้คนชั่วเกรงกลัวได้ บ้านเมืองนั้นก็จะไร้ความสงบสุขแน่นอน
*******************
สิ่งที่แตกต่างอาจเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่?
สุดท้ายขอฝากให้คิดเล่นๆว่า พระเจ้าในศาสนาอื่นอาจเป็นสิ่งเดียวกับกฎแห่งกรรมในศาสนาพุทธได้หรือไม่?
และหากเป็นสิ่งเดียวกันจริง ความคิดเห็นส่วนตัวผม ผมคิดว่า พระเจ้าก็คือสภาวะธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือกฏแห่งธรรมชาติ(มีกฏแห่งกรรมอยู่ด้วย)นั่นเองครับ
ทำไมพระพุทธเจ้าท่านทรงเอาชนะกฎแห่งกรรมเพื่อเข้าสู่พระนิพพานได้?
ก็เพราะพระพุทธองค์ทรงดับกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ และเหตุแห่งทุกข์นี้เองที่กำหนดให้สรรพสัตว์ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ .
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงดับกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ได้ ก็เท่ากับดับเชื้อแห่งการเกิดได้ เมื่อพระองค์ดับเชื้อแห่งการเกิดได้ พระพุทธองค์จึงหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด(วัฏสงสาร)หรือบ่วงแห่งทุกข์นั่นเองครับ
และเมื่อหลุดจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จะได้ไปอยู่กับพระเจ้าก็คือพระนิพพานนั่นเอง งง!มั้ยครับ?
หากเราศึกษางานของท่านพุทธทาสมาบ้าง ก็จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า
กฎแห่งกรรม = กฎธรรมชาติ
กฎธรรมชาติ = พระเจ้า
พระเจ้า = กฎแห่งกรรม
พ้นจากกฎแห่งกรรม = พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
การเวียนว่ายตายเกิด = วัฏสงสาร
พ้นจากวัฏสงสาร = พระนิพพาน
ฉะนั้นบทสรุปของผมก็คือ พระเจ้าในทางพุทธศาสนาก็คือพ้นจากกฎแห่งกรรม คืนสู่สภาวะธรรมชาติที่เที่ยงแท้ คือการเข้าสู่พระนิพพานนั่นเองครับ (ซึ่งก็อยู่ในกฎแห่งธรรมะนั่นเอง เพราะกฏแห่งธรรมะ กำหนดไว้ว่า ผู้ใดหมดกิเลส ย่อมหลุดพ้นจากสังสารวัฏเข้าสู่พระนิพพาน)
"ความไม่เที่ยงแท้ ความไม่แน่นอนนั้นเป็นสัจธรรม แต่สัจธรรมนั้นเที่ยงแท้แน่นอน"
อ่าน คนเลี้ยงหมาระวังได้บาป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com