ก่อนอื่นต้องขอให้ข้อมูลกับหลายๆท่านอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน ก็คือ เขื่อนภูมิพล เคยมีน้ำล้นเขื่อนจนต้องเปิดสปิลเวย์ระบายน้ำออกมาแล้ว3ครั้ง คือเมื่อปี 2518 ปี 2545 ปล่อยถึง 2 ครั้ง และปี 2554
ที่ผมนำกราฟน้ำล้นเขื่อนมาให้ดูทั้ง3ปีนั้น ก็เพื่อจะบอกว่า แม้มีน้ำล้นเขื่อนในปี 2518 และปี 2545 ก็ไม่จำเป็นที่กรุงเทพฯต้องน้ำท่วม เพราะปัญหาน้ำท่วมมันไม่ได้อยู่ที่เขื่อนเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก
ตลอดเดือนนี้ทั้งเดือน ผมเขียนเรื่องเขื่อนหลายบทความมาก และคิดว่าบทความนี้จะเป็นบทความสรุปเรื่องเขื่อน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกคนว่าเขื่อนคืออะไร ทำหน้าที่และจัดการอย่างไร
จากบทความที่แล้ว คลิปในหลวงทรงแนะนำวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 ในหลวงทรงแนะเรื่องเขื่อน พอที่จะสรุปหลักการบริหารเขื่อนคร่าวๆไว้ดังนี้
หน้าฝน เขื่อนต้องกักเก็บน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ส่วนประตูระบายน้ำหรือพื้นที่ด้านล่างของเขื่อนทั้งหมด ต้องพยายามทำให้พร่องน้ำเข้าไว้ เผื่อรอรับการระบายน้ำจากเขื่อน
หากคุณผู้อ่านได้อ่านบทความก่อนๆของผมมาตลอด จะเข้าใจหลักการบริหารที่ในหลวงทรงชี้แนะได้ไม่ยาก
แต่ถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจ ผมขอจะอธิบายเสริมอีกครั้ง
------------------
การพร่องน้ำของเขื่อน
ในยามปกติทั่วไป หน้าแล้งจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปริมาณน้ำในเขื่อนที่เคยพุ่งขึ้นสูงสุดในเดือนตุลาคมของทุกปี ก็จะค่อย ๆ ทยอยร่อยหรอลงเรื่อย ๆ แต่จะร่อยหรอน้อย หรือมากเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นหน้าแล้ง แล้งจัดแค่ไหน?
ดังนั้น ในช่วงหน้าแล้งจึงเป็นการพร่องน้ำโดยธรรมชาติของเขื่อนอยู่แล้ว
แล้วพอเข้าเดือนพฤษภาคม ปริมาณน้ำในเขื่อนมักจะเหลือต่ำสุด เพราะใกล้จะสิ้นหน้าแล้ง
และเมื่อเริ่มเข้าหน้าฝนในกลางเดือนพฤษภาคม เขื่อนก็จะเริ่มต้นเก็บกักน้ำใหม่อีกครั้ง นี่คือหลักการบริหารน้ำในเขื่อนอย่างคร่าวๆ
ในหน้าฝน หน้าที่เขื่อน คือ ต้องกักเก็บน้ำ
ส่วนหน้าแล้ง หน้าที่เขื่อน ก็คือทยอยปล่อยน้ำให้ประชาชนได้ใช้
แต่ยุคนี้ คนชอบบอกให้พร่องน้ำในหน้าฝน บ้ารึเปล่า?
หน้าฝนเขื่อนเขาต้องกักเก็บน้ำ นี่จะดันให้ปล่อยน้ำ แล้วจะมีเขื่อนไว้ทำไม?
หน้าฝน น้ำเข้าเขื่อนจะมากกว่าน้ำออกจากเขื่อน
หน้าแล้ง น้ำเข้าเขื่อนจะน้อยกว่าน้ำออกจากเขื่อน
(ถ้าหน้าฝนยังไม่ยอมเก็บน้ำ แล้วจะให้ไปเก็บน้ำในหน้าแล้งเหรอครับ?)
------------------------
หลักการระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่
เขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล มีการบริหารจัดการโดนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งพอเริ่มเข้าหน้าฝน เขื่อนจะเริ่มกักเก็บน้ำไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีปริมาณน้ำเข้ามากเกินไป ก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาบ้าง เพื่อรักษาสมดุลของเขื่อน
ทีนี้เมื่อเขื่อนต้องการปล่อยน้ำเท่าไหร่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็จะแจ้งมาที่กรมชลประทานว่า วันนี้ควรจะปล่อยน้ำเท่านั้นเท่านี้ ขอให้กรมชลประทานช่วยเตรียมพร่องน้ำในคลองชลประทานต่าง ๆ รอรับน้ำด้วย
เมื่อกรมชลประทานได้รับการแจ้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาแล้วว่าจะปล่อยน่้ำเท่าใด ตามหน้าที่ของกรมชลประทานก็จะต้องเปิดปิดประตูน้ำตามจุดต่างๆให้สอดคล้องกับการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเสมอ
หรือในหน้าแล้ง หากกรมชลต้องการน้ำมากเท่าไหร่ ก็จะบอกไปที่เขื่อนให้ปล่อยน้ำออกมา
ทั้ง2หน่วยงานต้องทำงานประสานกันตลอด ในสภาวะปกติ
---------------------
ปัญหาของปี 2554 คืออะไร
ปัญหาของปี54คือ มีฝนตกมากผิดปกติทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆมากมายมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม การปล่อยน้ำของเขื่อนเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น เพราะถ้าเขื่อนปล่อยน้ำมาก ก็จะไปซ้ำเติมประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อน โดยเฉพาะชาวนาที่ต้องการเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อจะเข้าโครงการจับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน
อีกทั้งประตูน้ำตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ กรมชลประทานไม่สามารถเปิดประตูน้ำได้โดยอิสระ เพราะมีการแทรกแซงจากประชาชนในพื้นที่ เช่น ชาวนาต้องการให้เก็บเกี่ยวข้าวก่อน ถ้าประตูน้ำเปิดน้ำจะท่วมนาข้าวเป็นต้น
ปี 2554 มีอิทธิพลพายุเข้ามากถึง 5 ลูก แถมมีฝนตกเหนือเขื่อนปริมาณมากแบบผิดปกติ เมื่อเขื่อนมีน้ำมากผิดปกติ ก็ต้องปล่อยออก แต่ดันปล่อยไม่ได้ เพราะมีการอั้นตามประตูน้ำต่างๆ
ขอยกตัวย่างปี 2553 มีน้ำท่วมทุกภาค และหนักสาหัสทุกภาค ทั้ง ๆ ที่ปี 2553มีพายุเข้าลูกเดียวเท่านั้น ปี 2553 จะต่างกับปี 2554 ตรงที่ไม่มีน้ำมาท่วมปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ
และที่น้ำในเขื่อนปี 2553 กลับน้อยมาก นั่นเพราะปี2553 เกิดแล้งจัดที่สุดในรอบ5ปี แถมปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนกลับน้อยกว่าปกติ แต่ปี 2553 กลับมีฝนตกในพื้นที่ใต้เขื่อนมากผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุที่น้ำท่วมหนักพอควร
----------------------
ในปี 2553 มีภาวะแล้งยาวนาน และเกิดอุทกภัยช้ากว่าปี 2554
ในปี 2553 ถือว่าเป็นปีที่แล้งหนักที่สุดในรอบ5ปี ตามที่ผมเคยให้ลิงค์ข่าวไปในบทความก่อนๆ
อ่านข่าวปี53แล้งจัด ฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนสิงหาคม
ในปี 2553 อุทกภัยแทนที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายนเหมือนปี54 แต่ปี 2553อุทกภัยกลับเริ่มในเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนธันวาคม 2553 คงจำได้ลพบุรี โคราช หาดใหญ่ กระบี่ หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปี
---------------------
ทำไมปี 2554 น้ำถึงท่วมกรุงเทพฯ
นอกจากปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ จำนวนพายุที่มากกว่าปกติแล้ว ยังมีจำนวนฝนที่ตกมาทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนมากผิดปกติอีกด้วย
ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการน้ำที่ล่าช้าเกินไป การที่ไม่สามารถจัดการบริหารน้ำได้อย่างเต็มระบบ ขาดความเป็นเอกภาพ มีความขัดแย้งแนวทางในหน่วยงานจัดการน้ำ
และเกิดจากการอั้นน้ำตามจังหวัดต่างๆ ตามประตูน้ำต่างๆ อย่างมาก แม้กระทั่งน้ำท่วมอยุธยาแล้ว ชาวองครักษ์กับชาวลำลูกกา ก็ยังทะเลาะกันเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ เพราะชาวบ้านน้ำท่วมอยากให้เปิดประตู แต่ชาวนาบอกว่ารอเก็บเกี่ยวก่อนได้มั้ย
กรณีที่ชาวบ้านทะเลาะกับชาวนาเกิดขึ้นในหลายๆจังหวัด เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
นี่คือปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขต่อไปว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถบริหารจัดการการเปิดปิดประตูน้ำได้อย่างอิสระ ไม่สามารถบริหารน้ำได้อย่างเต็มระบบได้ ทำให้ปัญหาน้ำท่วมจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว
แล้วรัฐจะมีมาตรการอะไรในปีหน้าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากแบบนี้อีก?
อย่างล่าสุด ชาวบ้านย่านคลองสามวา ก็มาประท้วงให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำมากขึ้น ซึ่งเมื่อเปิดแล้ว น้ำก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่ชาวบ้านคิด แต่กลับทำให้ชาวบ้านอีกพื้นที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมตามไปด้วย
นี่คือระบบความคิดที่ล้มเหลวมากขึ้นของสังคมไทย
เพราะทุกคนต่างคิดว่า ตัวใครตัวมัน บ้านใครบ้านมัน เมื่อคิดกันแบบนี้ จึงทำให้การบริหารจัดการของภาครัฐทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้
อาจเพราะรัฐไม่เคยพูดคุยสื่อสารกับชาวบ้านมากพอ ไม่เคยพูดว่าจะเยียวยาเขาอย่างไร
เมื่อทุกคนรู้สึกเหมือนโดนรัฐลอยแพ พวกเขาเลยต้องพยายามปกป้องตัวเองอย่างถึงที่สุด
พวกเขาคิดว่า เขาไม่คุ้มที่จะเสียสละ ทั้งๆที่คำว่า เสียสละมันแปลว่าต้องไม่คุ้มกับที่เสียอยู่แล้ว
----------------------
ทฤษฎีการยกน้ำ
มีนักวิชาการหลายท่าน ได้พูดถึงเรื่องการยกน้ำ ทำให้น้ำท่วมปี 2554 รุนแรงกว่าทุกปี
นั่นเกิดจาก ทุกจังหวัดที่น้ำไหลผ่าน ทุกเมือง ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ที่มาตั้งอยู่บนเส้นทางของน้ำหลากทุ่ง
เมื่อทุกชุมชนกลัวน้ำจะท่วมเขตของตน ก็จะสร้างคันกั้นน้ำสูงขึ้นเพื่อไม่ให้น้ำจากแม่น้ำไหลเข้ามาในเขตชุมชน น้ำในแม่น้ำจึงถูกยกตัวให้สูงขึ้นเรื่อยมาจากทางต้นทาง
เมื่อน้ำถูกยกสูงขึ้น แรงดันน้ำก็สูงมากขึ้น น้ำถูกห้ามเข้าทุ่งตามธรรมชาติ เพราะทุ่งกลายเป็นชุมชนไปแล้ว
เมื่อน้ำไม่ได้เข้าทุ่ง ถูกบังคับให้อยู่แต่ในแม่น้ำ สุดท้ายแรงดันน้ำก็ยิ่งสูงขึ้น ก็ได้ทำลายคันกั้นน้ำที่แต่ละจังหวัดทำไว้ในที่สุด
เมื่อคันกั้นน้ำในจังหวัดอยุธยาพัง น้ำเลยทะลักเข้ามามากผิดจากน้ำทุ่งตามธรรมชาติ เพราะน้ำถูกยกสูงผิดธรรมชาติมาตลอดทางครับ
--------------------------
เผอิญ ผมได้ลิงค์บทความที่น่าสนใจซึ่งตอบคำถามเกี่ยวกับเขื่อนได้อย่างมีข้อมูลเชิงลึกอย่างดี และสมเหตุสมผลมาก
เชิญไปอ่านบทความเรื่อง10 คำถาม น้ำสะสมในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่ผ่านมา ใครรับผิดชอบ? ได้ที่ คลิก!!
ถ้าใครยังไม่ได้อ่านบทความที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเดือนตุลาคมของผม เรื่อง การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่ผิดพลาด ต้องไปอ่านนะครับ แล้วคุณจะเข้าใจเขื่อนมากขึ้น
สุดท้ายขอสรุปบทความนี้ว่า ระบบจัดการเรื่องน้ำของไทยที่มีอยู่ตอนนี้ ไม่เพียงพอรับมือกับภัยพิบัติจากน้ำในสภาวะโลกร้อนแล้วครับ
------------------------
ดูท่านปราโมทย์ ไม้กลัดอธิบายว่า เขื่อนไม่ได้ผิดพลาด (ซึ่งอธิบายตรงกับที่ผมเคยอธิบายทุกอย่าง)
และท่านปราโมทย์ ยังพูดอีกว่า หน้าที่หลักของเขื่อนคือ กักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง การป้องกันน้ำท่วมเป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้น!!
คลิกอ่าน สัมภาษณ์อธิบดีกรมชลประทาน กับข้อหาการบริหารน้ำผิดพลาด!!