วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สึนามิน้ำจืดปี54ต่างจากน้ำท่วมปี38อย่างไร?






ผมในฐานะคนกรุงเทพฯ อยู่ในเขตลาดพร้าวแม้จะยังไม่ใช่เขตที่ติดกับปทุมธานี แต่ก็ใจตุ๊มๆต่อมๆมาหลายวันแล้ว เพราะถ้าน้ำมาถึงบางเขนได้เมื่อไหร่ ลาดพร้าวก็ไม่แน่ว่าจะรอด

เห็นตัวเลขประมาณการทางทีวีไทยว่า ถ้าหากคันกั้นน้ำด่านสุดท้ายของกทม.เกิดแตกขึ้นมา แถวใกล้ๆบ้านผม คือโรงเรียนสตรีวิทย์2 ก็อาจท่วมถึง1เมตรครึ่ง

ก่อนอื่นผมขอบอกข้อมูลเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลในวันที่19ต.ค.2554 สักนิด ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน90.30ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก60ล้านลบ.ม. (หยุดการปล่อยน้ำทางสปิลเวย์แล้ว)

คลิกที่รูปเพื่อขยาย!!


ที่ผมนำตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนวันนี้มาให้ดู เพื่อจะบอกว่า แม้ตอนนี้ทางภาคเหนืออากาศเริ่มหนาวแล้ว ฝนตกน้อยลงแล้วก็ตาม

แต่วันนี้ปริมาณน้ำที่เข้าเขื่อนภูมิพล ก็ยังมีปริมาณมากกว่าน้ำที่ระบายออกอยู่ดี

แปลว่าอะไร? ก็แปลว่า ถ้าไม่มีเขื่อนภูมิพลมาช่วยชะลอน้ำเอาไว้ ตอนนี้ก็ต้องมีน้ำไหลลงมาวันละ90ล้านลบ.ม.ต่อวันเต็มๆ

(ผมไม่ได้บอกว่า ต้องสร้างเขื่อนแล้วดีนะครับ กรุณาอย่าหลงประเด็น)

-----------------------------------

น้ำท่วมปี2538 ต่างกับปี2554 อย่างไร?

ประเด็นแรก ที่ต่างอย่างชัดเจนที่สุด คือปริมาณน้ำฝนปี54 มากกว่าปี38 และปี49 (ข้อมูลปริมาณฝนจากvoictv)

ประเด็นที่2 คือ สภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไป เช่นเมื่อปี38 ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง

ปี38 ไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่เดิมคือหนองงูเห่า ซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติ

ปี38 ด้านตะวันออกบริเวณใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิ มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ขวางทางน้ำไหล ซึ่งเกิดจากความล้มเหลวเรื่องผังเมือง ปล่อยให้สร้างบ้านแปลงเมืองอย่างไร้ระเบียบ และถึงมีผังเมืองแล้ว แต่การบังคับใช้กฏหมายควบคุมให้เป็นไปตามผังเมืองก็ล้มเหลว

ปี38 ยังมีป่าไม้มากกว่าปี54 ทำให้น้ำเหนือไม่ไหลลงมาเร็วเกินไป มาตรการปราบพวกตัดไม้ทำลายป่าล้มเหลว!!

ปี54 มีถนนใหม่เกิดขึ้นมากมาย แถมสูงขึ้น ยิ่งขวางการไหลของน้ำ เพราะคิดสร้างถนน โดยไม่เคยสนใจว่าจะขวางเส้นทางของน้ำ

ปี54 เพราะชาวนาอยากได้จำนำข้าว15,000บาท ทำให้มีการเร่งปลูกข้าวหลายครั้ง เพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้การบริหารจัดการน้ำตามประตูระบายน้ำต่างๆยากลำบากมากขึ้น เพราะกลัวน้ำท่วมนา!!

และที่กรุงเทพฯมีความเสี่ยงน้ำท่วมสูง นั่นเพราะบริเวณย่านคลองรังสิต จากที่เคยเป็นทุ่งนา เดี๋ยวนี้กลายเป็นเมืองมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ขาดแก้มลิง(ทุ่งนา)ช่วยการรับน้ำ

นนทบุรี เดิมเป็นสวนผลไม้สวนทุเรียน เดี๋ยวนี้กลายเป็นกรุงเทพฯ2 ปทุมธานีเดิมเป็นทุ่งนา เดี๋ยวนี้กลายเป็นกรุงเทพฯ3 ทำให้ยิ่งขวางทางน้ำมากขึ้น เพราะเน้นสร้างเมืองโดยลืมเผื่อทางน้ำหลากตามธรรมชาติไว้ด้วย

อยุธยา เดิมเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ตอนนี้เป็นแหล่งอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่5แห่ง มูลค่ารวมหลายแสนล้าน ก็มาขวางการไหลของน้ำเช่นกัน

นี่คือ สาเหตุคร่าวๆ ที่ผมพอจะนึกได้

---------------------------

ดูกราฟน้ำเขื่อนภูมิพลปี54 เทียบกับปี38



ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ปี38 น้ำท่วมหนักมากในประวัติศาสตร์เช่นกัน กรุงเทพฯชั้นในเสี่ยงภาวะน้ำท่วม แต่รอดได้ด้วยพระบารมีที่ทรงชี้แนะ

ทั้งๆที่กราฟปี38 เขื่อนภูมิพลน้ำไม่เต็มเขื่อน แต่น้ำก็ท่วมหนักที่สุด?

นั่นเพราะปี38 ฝนที่ตกเหนือเขื่อนภูมิพลไม่ได้มีปริมาณมาก อีกทั้งปี38 น้ำท่วมหนักเกิดจากแม่น้ำยมมากที่สุด ซึ่งในหลวงก็ทรงบอกเช่นนั้น

ประเด็นนี้แนะนำให้ไปอ่านเรื่อง เรียนรู้คน เขื่อน ศปภ. ยิ่งลักษณ์ ครับ

---------------------------

กรมชลประทาน ไม่ใช่กรมป้องกันน้ำท่วม

ผมเห็นคนชอบด่าว่า กรมชลประทานมีไว้ทำไม ถ้าป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ก็ยุบกรมไปซะ

นั่นคือความเห็นของคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง ว่าหน้าที่ของกรมชลประทาน คืออะไร?

หน้าที่ของกรมชลประทาน ถ้าแปลตรงๆตามชื่อ

ชล แปลว่า น้ำ , ประทาน แปลว่า ให้

กรมชลประทาน จึงแปลว่า กรมให้น้ำ

นั่นหมายถึง กรมชลประทาน คือกรมที่มีหน้าที่จัดสรรน้ำไปให้ประชาชนเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร คือหาน้ำมาให้ประชาชน ไม่ใช่ทำให้น้ำหนีประชาชน!!

สรุปกรมชลประทานไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันน้ำท่วม ครับ (เป็นแค่หน้าที่เสริมเท่านั้น)

ถ้าอยากให้กรมชลประทานทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมด้วย เราต้องให้อำนาจแก่กรมชลประทานมากกว่านี้ ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือให้แก่กรมชลประทานมากกว่านี้

ฉะนั้น ถ้าน้ำท่วมก็จะโทษกรมชลประทานไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่ว่าจะกี่รัฐบาลที่ผ่านมา มัวแต่เน้นสร้างถนน ไม่ได้เน้นขุดคลอง

เมื่อคลองมีไม่พอกับจำนวนน้ำ ยังไงก็ต้องท่วม!!

--------------------------

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

รัชกาลที่5 ทรงให้ขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เมื่อ100กว่าปีมาแล้ว!!

รัชกาลที่9 ทรงดำริให้สร้างแนวคันกั้นน้ำตามแนวทางพระราชดำริ ทรงให้ขุดคลองลัดโพธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงทะเล

ที่กรุงเทพฯส่วนใหญ่ ยังไม่จมน้ำจนถึงณ.วันนี้19ต.ค.54 เพราะในหลวงทั้งสองพระองค์ทรงให้สร้างสิ่งเหล่านี้เอาไว้เราทั้งนั้น (แต่พรุ่งนี้กรุงเทพฯอาจจมไปแล้ว) 

พอนายกฯยิ่งลักษณ์เข้าเฝ้า ในหลวงทรงรับสั่งให้เร่งระบายน้ำลงทะเลด้านตะวันออก ทรงแนะนำให้ไปขุดลอกคลองลัดแม่น้ำท่าจีน

-----------------------------

สึนามิน้ำจืด54

อุทกภัย54นี้ เปรียบเสมือนสึนามิน้ำจืดตามที่สื่อต่างชาติให้นิยามเอาไว้ มวลน้ำมหาศาลได้ไหลลงมาอย่างช้าๆต่างจากสึนามิที่ญี่ปุ่น แต่ความที่ไหลมาอย่างช้าๆ แต่มีพลังมหาศาลมากกว่าสึนามิเสียอีก

เพราะสึนามิญี่ปุ่นอาจมาตูมเดียว คลื่นสูง5เมตร บุกขึ้นฝั่งไปไกลแค่10กิโลเมตร แล้วก็จบลงในวันเดียว

แต่สึนามิเมืองไทย แม้ไม่สูงเท่าสึนามิญี่ปุ่น แต่ถล่มข้ามจังหวัดกินระยะทางร่วมพันกิโลเมตรกว่าจะลงทะเล

ทำให้คนไทยทุกข์ะระทม และอกสั่นขวัญหายไปหลายเดือน มีผู้ได้รับความเดือดร้อนมีจำนวนมากกว่าคนญีปุ่นเสียอีก

-------------------------

มีนายกรัฐมนตรีฝึกงานคนเดียว ประชาชนบ้านแตกนับแสนราย

จนถึงวันที่6ต.ค.54 ที่ผ่านมา คนตายไปแล้ว2ร้อยกว่าคน แต่นายกฯยิ่งลักษณ์บอกว่า ยังไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติทางธรรมชาติ!!

นักข่าวถามว่า สถานการณ์ในตอนนี้คิดว่าถึงขั้นต้องประกาศภัยพิบัติทางธรรมชาติได้หรือยัง?

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องขอศึกษาก่อน เพราะวัตถุประสงค์ของการประกาศเพื่อให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามคำสั่ง แต่วันนี้เราทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว การประกาศเร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้

(เดลินิวส์ออนไลน์)

เรามีนายกรัฐมนตรีฝึกงานก็แบบนี้แหล่ะ น้ำท่วมหนักตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ยังไงๆมันก็ต้องไหลมากรุงเทพฯ แต่นายกฯเพิ่งจะมาตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เมื่อวันที่8ตุลาคม2554 นี่เอง

ทำไมถึงช้า?

ก็ท่านมัวแต่ยุ่งเรื่องลดภาษีรถคันแรก คืนภาษีบ้าน5ล้าน อยู่น่ะสิ!!


--------------------------------------

1สิงหาค54 เจาะข่าวเด่น "กรมชลฯเตรียมรับมือพายุนกเต็น"

ใครบอกว่า กรมชลประทานไมได้พร่องน้ำ ก็ควรดูคลิปนี้ก่อนครับ คุณจะเข้าใจที่มาที่ไปเกี่ยวกับเขื่อนในหลายประเด็น แล้วสถานการณ์น้ำในเขื่อนเดือนสิงหาคมเป็นอย่างไร?

แล้วทำไมกรมชลประทานถึงทำงานยากลำบากขึ้นในสถานการณ์น้ำแต่ละปี??





จากน้ำท่วมหนักปี54นี้ ผมคิดว่า ปีต่อไปเขื่อนทุกเขื่อนจะรีบพร่องน้ำจนแทบหมดเขื่อน เพราะกลัวน้ำท่วมมากกว่าฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ถ้าปีหน้าขาดน้ำ ต้นข้าวยืนแห้งตาย ก็อย่าด่ากรมชลอีกนะครับ ว่าทำไมเจือกรีบพร่องน้ำ?!!

ส่วนคนกรุงอย่างผมก็คงขาดน้ำประปาเช่นกัน



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 ตุลาคม, 2554 12:53

    เปลี่ยนแปลง
    อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
    ลมร้อนก็ร้อนจัด ขณะพัดกระพือโหม
    น้ำท่วมกระโจนโจม ทะลุเขาและและป่าไพร
    หนาวเหน็บกระหน่ำหนัก ปะทะจักสลายใจ
    ดลเหตุและเภทภัย กระจะตาประจักษ์จำ
    โค่นตัดขจัดป่า ธนบ้าก็ยอมทำ
    เลื่อยยนตทิ่มตำ พนราบพินาศราน
    ปากหยุดขยิบตา ธุระท่าก็หักหาญ
    ไม่ยอมละสันดาน ดุจเปรตมิฟังใคร
    เปลี่ยนป่าก็เปลี่ยนดิน ชลรินฤร่อยไหล
    ฝืนธรรมชาติไป ก็จะภินทน์ชิวาเรา
    ภาคเหนือตะแบงถาง มิละวางกระหน่ำเผา
    ยึดผืนพนาเอา กสิกรรมเลี้ยงชนม์
    ภาคกลางสิรับกรรม ทวิซ้ำบเห็นหน
    หลากท่วมกระแสชล ชลเนตรก็ท่วมนอง
    ซุงโถมตระโบมทับ ขณะหลับมิอาจมอง
    เชี่ยวกรากกระหวัดกอง จะละหลบมิทันการ
    ป่า ดิน และสายน้ำ คุณล้ำวิเศษปาน
    ควรหรือจะหักหาญ ก็เพราะเกื้อธนาปอง
    ป่าไม้และสรรพสัตว์ มนหัดริไตร่ตรอง
    แปรไปมิถูกต้อง อวสานมนุษย์ชนม์
    ................................................
    ไพบูลย์ แสงสว่าง ประพันธ์

    ตอบลบ

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม