วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ราคาอาหารจานเดียวที่เป็นธรรมควรอยู่ที่เท่าไหร่?






ราคาอาหารจานเดียว อาหารสำเร็จรูป หรือราคาข้าวแกง ราคาก๋วยเตี๋ยว และอื่นๆ (ข้าวมันไก่, ข้าวหมูแดง ฯลฯ) ควรอยู่ที่เท่าไหร่? ถึงจะเหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

หลังจากผมได้ไปค้นข้อมูลอัตราค่าแรงขั้นต่ำย้อนหลังจากกระทรวงแรงงานมาแล้ว เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้องสำหรับบทความนี้

ผมจึงขอเล่าย้อนหลังกลับไป เมื่อสมัยผมยังเด็กๆ แล้วกัน

เมื่อวันที่ 1ตุลาคม พ.ศ. 2525  ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่  61 บาทต่อวัน

ในขณะนั้น ผมจำได้ว่า ผมกินก๋วยเตี๋ยวหมูแบบไทยๆ ที่เพิงของป้าปราณี ชามละ 5บาท น้ำเปล่าตักจากกระติกกินเอง 

ส่วนก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาและก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านอาแปะแถวบ้าน ชามใหญ่กว่าก๋วยเตี๋ยวร้านป้าปราณี ราคาชามละ 6 บาท อย่างอิ่มแปร้และอร่อยด้วย ส่วนน้ำแข็งเปล่า แก้วละ 50 สต. มีชาจีนในกา วางอยู่ทุกโต๊ะ มีให้เติมได้ตามสบาย 

ส่วนผม ลูกค้าประจำร้านอาแปะ น้ำแข็งเปล่าฟรี ตักเองเลย ^^

ส่วนราคาข้าวแกงโดยทั่วไป จานละ5บาท ถ้ากับ2อย่าง ก็ 6 บาท

อัตราส่วนค่าแรงขั้นต่ำต่ออาหารจานเดียวปี 2525 คือประมาณ 10 เท่า

---------

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530   ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 73 บาทต่อวัน

ผมจำได้ว่า ก๋วยเตี๋ยวร้านอาแปะ ร้านที่ผมกินประจำที่สุด ได้ขายในราคาขามละ 7 บาทแล้ว เพราะผมกลับจากโรงเรียนมักหิว ก็จะแวะซื้อเข้าบ้านกินรองท้องก่อนอาหารเย็น ข้าวแกงทั่วไปก็ จานละ 5-6 บาท


อัตราส่วนค่าแรงขั้นต่ำต่ออาหารจานเดียวปี 2530  ก็ยังประมาณ 10 เท่า


---------

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2534   ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 100 บาทต่อวัน

ผมจำได้ดีเลยว่า ช่วงนั้น ผมชอบกินข้าวมันไก่เจ้าอร่อยอยู่เจ้านึง ราคาจานละ 10 บาท 
ส่วนก๋วยเตี๋ยวร้านอาแปะ ก็ชามละ 10 บาทเหมือนกัน

ส่วนราคาข้าวแกงตอนนั้น จานละ 7-8 บาท 2 อย่าง 10

อัตราส่วนค่าแรงขั้นต่ำต่ออาหารจานเดียวปี 2534 ก็ประมาณ 10 เท่าเช่นกัน


----------

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535   ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 115 บาทต่อวัน

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อยหน้าเซ็นทรัลลาดพร้าวตรงใต้สะพานวกเข้าถนนลาดพร้าว ผมแวะกินประจำตอนลงรถเมล์ ชามละ11บาท พิเศษ13บาท แต่ชามใหญ่จริงๆ (เจ้านี้จะขายแพงกว่าร้านทั่วไป1บาท)

ส่วนข้าวกะเพราหมูเจ้าอร่อยสุดในโลก ในซอยบ้านผม จานละ10บาท ถ้าเพิ่มไข่ดาวก็อีกฟองละ3บาท และข้าวขาหมูในซอยบ้าน ที่ผมชอบกินตอนเช้า ก็ยังจานละ10บาทเท่านั้น 


อัตราส่วนค่าแรงขั้นต่ำต่ออาหารจานเดียวปี 2535 ก็ยังเกือบ 10 เท่า คือไม่ถึง 10 เท่า แสดงว่ามีแนวโน้มเริ่มแพงกว่าในอดีตแล้ว


-------------------

อัตราค่าแรงขึั้นตำ / ราคาอาหารจานเดียวในอดีต

จากตัวเลขคร่าวๆ ในอดีตที่ผมนำมาให้ดูนั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ต่อ ราคาอาหารจานเดียว ว่า จะอยู่ที่

อัตราค่าแรงขั้นต่ำ สามารถซื้ออาหารจานเดียวได้ 10 จาน โดยเฉลี่ย

แต่เมื่ออาหารจานเดียวส่วนใหญ่ ขึ้นไปที่ราคาจานละ หรือชามละ 15บาทแล้ว หลังจากนั้น แทบไม่มีการปรับราคาขึ้นทีละบาทสองบาท เหมือนดั่งในอดีต มักขึ้นราคาพรวดเดียวทีละ 5บาท กันทั้งนั้น

คุณแทบไม่เคยเห็น ก๋วยเตี๋ยวชามละ 17 บาท ข้าวมันไก่จานละ 22 บาท จริงมั้ย??

และก่อนที่ค่าแรงขั้นต่ำ จะอยู่ที่300บาทต่อวันในกรุงเทพและปริมณฑล ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายน55 ที่ผ่านมา

จากปีที่แล้วถึงเดือนมีนาคม55 ราคาค่าแรงขั้นต่ำกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ 216 บาทต่อวัน แต่ราคาอาหารจานเดียวน่ะ ส่วนใหญ่ขายจานละ 30 บาทมานานแล้ว จริงมั้ย?

นั่นก็แปลว่า ค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถซื้ออาหารจานเดียว ได้10 จานเหมือนที่เคยซื้อได้ในอดีต

และเมื่อค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ มาอยู่ที่ 300บาทต่อวัน ตอนนี้ผมเห็นก๋วยเตี๋ยวหลายร้าน ทั้งข้าวขาหมู ราดหน้า อีกหลายร้านแถวบ้านผม ราคาจานละ 35บาท ถึง 40บาทไปแล้ว

เท่ากับว่า ค่าแรง 300บาท ที่รัฐบาลให้มา ก็ยังไม่สามารถซื้ออาหารจานเดียวได้10จานเหมือนที่เคยซื้อได้ในอดีต

-------------------------

ราคาอาหารจานเดียว ที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไหร่ ?

จริงๆแล้ว ถ้าเทียบกับเมื่อ20-30 ปีที่แล้ว ราคาอาหารจานเดียวจำนวน 10 จานรวมแล้วไม่ควรเกินอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จึงจะพอจะเป็นธรรมขึ้นมาหน่อย 

** หรือถ้าคิดเป็นสูตรก็คือ ค่าแรงขั้นต่ำ หาร ราคาอาหารจานเดียว ต้องไม่เกิน 10 เท่า **

แต่ถ้าเทียบกับในประเทศอื่น ๆ ราคาอาหารจานเดียวของไทยยังถือว่าแพงกว่าประเทศอื่นๆ

เพราะถ้าจะให้อาหารจานเดียวราคาถูกและเป็นธรรมต่อผู้ได้ค่าแรงงานขั้นต่ำ นั้น

ค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อหารด้วย ราคาอาหารจานเดียว ต้องประมาณ 12-15 เท่า 

หากน้อยกว่านี้ จัดว่าผู้ใช้แรงงานระดับล่างสุดกำลังถูกสังคมเอาเปรียบ

--------------------

ตัวอย่างเพื่อความเป็นธรรมเช่น 

เมื่อปีที่แล้วค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพวันละ 216 บาท อาหารจานเดียวก็ไม่ควรเกินจานละ 20 บาท ถึงจะถือเป็นธรรมต่อประชาชนระดับล่างสุด 

แต่ความจริงราคาอาหารจานเดียวกลับขาย 30บาทกันมานานแล้ว นี่คือความผิดปกติในระบบการค้า หรือไม่ก็ในระบบค่าแรง ซึ่งรัฐบาลต้องหาสาเหตุนี้ให้ได้

ซึ่งความจริงแล้ว ตอนนี้คนไทยโดนเอาเปรียบมาก เพราะอาหารจานเดียวที่ขายในปัจจุบัน ทั้งราคาแพง แต่ปริมาณกลับน้อยลงกว่าในอดีตมากๆ

เมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยวร้านอาแปะ ที่ผมเคยซื้อกินประจำ ชามใหญ่มาก กินชามเดียวอิ่มแปร้ แต่เดี๋ยวนี้หาก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่แบบนั้นแทบไม่มีอีกแล้ว

ปัจจุบัน ถ้าคุณต้องกินให้อิ่ม ก็ต้องซื้อกินถึง 2ชาม ก็ปาเข้าไป 70 บาท แล้วใช่มั้ย??

ซึ่งผมถึงเคยเขียนไว้ในบทความเก่าๆ เมื่อปีที่แล้วว่า คนไทยกินอาหารจานเดียวแพงกว่าคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบต่ออัตราค่าแรงขั้นต่ำแล้ว

------------------------

ขอยกตัวอย่างอีกสักอย่าง

เมื่อปี2553 หอมแดงราคาดีมาก เกษตรกรหอมแดงที่ศรีสะเกศ รวยกันเป็นล้าน

พอปี2555 หอมแดงราคาตก ตกมากจนเกษตรกรต้องเอามาเททิ้งประท้วงรัฐบาล แต่ผมก็ไม่เห็นราคาขายปลีกหอมแดง ที่ผมไปซื้อตามตลาดจะถูกลงกว่าเมื่อปี 53 เลย??

นั่นเพราะอะไรล่ะ??

ปัญหาอาหารแพง แต่ผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ สาเหตุอยู่ที่อะไร?! 

ผมเคยเขียนไว้แล้ว ในบทความเรื่อง ใครคือต้นเหตุความยากจนของเกษตรกรไทย

ส่วนเรื่องราคาอาหารจานเดียว ที่แพงเกินกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำจะรับได้ นี่คือปัญหาที่พ่อค้า แม่ค้าควรถามใจตนเองแล้วว่า เพราะพวกคุณอยากจะรวยใช่มั้ย? ถึงได้ขายราคาแบบนี้กัน

ถ้าคุณคิดว่า เปล่าไม่ได้อยากรวย แค่ขายตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นต่างหาก

งั้นผมขอนำตัวอย่างจากรายการตลาดสดสนามเป้ามาให้พวกคุณได้ดู นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะที่จริงแล้วรายการตลาดสดสนามเป้าได้พาเราไปดูแม่ค้าพ่อค้าอาหารจานเดียว ที่ขายราคาถูกมากๆ มา หลายครั้ง หลายร้าน และพาไปดูต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

ตัวอย่างเช่นล่าสุด ที่เพิ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา

ข้าวแกง10บาท อยู่ก่อนถึงเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ชามละ10บาท แถมมีที่จอดรถให้ลูกค้า 80 คัน จากรายการตลาดสดสนามเป้า



สรุปว่าที่จริงแล้ว ท่านพ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องขายถูกมากขนาดร้านในคลิปก็ได้ ขอเพียงขายในราคาย่อมเยา เห็นใจคนจน เห็นใจผู้บริโภคบ้าง ไม่ควรตั้งเจตนาการขายไว้ที่หวังร่ำรวย แต่ให้่ตั้งเจตนาการขายที่เรียกว่า เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า

อย่างน้อย 1 จานที่พวกคุณขาย ก็ควรมีปริมาณมากพอที่จะให้คนทั่วไปได้กินได้พออิ่มจริงๆ ไม่ใช่แพงก็แพง อิ่มก็ไม่อิ่ม

และเมื่อใครๆต่างก็หวังรวย ก็จะเริ่มเห็นแก่ตัวมากขึ้น เอาเปรียบกันมากขึ้น สังคมจึงแย่ลงแบบที่เห็นในทุกวันนี้ สุดท้ายจะไม่มีใครรวย นอกจากพ่อค้าคนกลาง เพราะแพงทุกอย่างเหมือนกัน แต่ผู้ด้อยโอกาสระดับล่าง เช่นคนแก่ที่โดดเดี่ยว และคนพิการ จะยิ่งแย่ลงไปอีก และผลกระทบจะย้อนกลับมาสู่ประเทศชาติอีกทีหนึ่ง

ซึ่งสังคมจะดีขึ้นได้ หากทุกคนเห็นใจกันซึ่งกันและกัน

คลิกอ่าน น้ำใจคนไทยสู่ขอทาน และร้านอาหารเศรษฐีใจบุญ



2 ความคิดเห็น:

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม