วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรียนรู้คน เขื่อน ประตูน้ำ ศปภ. ยิ่งลักษณ์






ก่อนอื่นต้องบอกว่า กรุณาอ่านบทความนี้ให้จบนะครับ เพราะถ้าไม่จบจะพลาดของดี!!

เรียนรู้เขื่อน

คุณผู้อ่านครับ ผมเขียนเรื่องเขื่อนมาหลายบทความในเดือนตุลาคม ใครไม่ได้อ่านอยากให้กลับไปย้อนอ่านทุกบทความ แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทำไมเขื่อนถึงเต็ม และเต็มทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เต็มทุกเขื่อน

ทีนี้ข้อครหาเรื่องเขื่อนภูมิพล ว่ากักเก็บน้ำไว้ทำไมไม่รีบพร่องน้ำ ผมก็ได้อธิบายไปแล้วว่ามีหลายสาเหตุ ถ้าคนที่มองจากด้านนอกมันพูดง่ายครับ ว่าทำไมไม่พร่องน้ำ

และผมต้องขอย้ำอีกครั้งว่า เขื่อนไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันน้ำท่วม แต่เขื่อนมีหน้าที่หลักคือกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน การป้องกันน้ำท่วมของเขื่อนเป็นแค่ผลพลอยได้ของการมีเขื่อนเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจที่ผมอธิบายให้กลับไปบทความในเดือนตุลาคมซ้ำอีกครั้ง

วันนี้ ผมจะนำตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ย้อนหลัง ตั้งแต่ปี2538 ปี49 ปี53 และปี 2554 มาเปรียบเทียบให้ดูนะครับ จะทำให้เรามองอะไรได้กว้างยิ่งขึ้น

และที่สำคัญที่สุด ที่คนไทยเข้าใจคลาดเคลื่อนกรมชลประทานอย่างมากก็คือ เขื่อนทั้งสองแห่งควบคุมบริหารโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหลัก ส่วนกรมชลประทานแค่มาร่วมการบริหารเท่านั้น

แค่อยากจะด่าเขื่อน หลายคนยังไม่รู้เลยว่า เขื่อนใหญ่2แห่งนี้บริหารโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต


---------------------

มาดูกราฟเขื่อนปี38 49 53 54 กัน


กราฟจาก thaiwater.net

กราฟเขื่อนภูมิพล เส้นแดงคือปี2011 หรือ2554 , เส้นน้ำเงินคือ 2553 , เส้นเขียวคือ 2549 และเส้นฟ้าอ่อนคือ 2538

ที่ผมนำกราฟเปรียบเทียบของทั้ง4ปีมานี้ ก็เพราะทั้ง 4 ปีนี้ เกิดน้ำท่วมหนักทั้งสิ้น

เส้นเขียวปี 49 เส้นแดงปี 54 น้ำในเขื่อนภูมิพลมีปริมาณมากพอกัน มาเริ่มพุ่งชันในเดือนสิงหาคมเหมือนกัน เพียงแต่ น้ำตุลาคมปี54 จะมากกว่าปี 49 อยู่หน่อยเพราะเกือบล้นเขื่อน แต่ได้มีการปล่อยน้ำออกจาสปิลเวย์เพื่อป้องกันเขื่อนล้น

ส่วนเส้นฟ้าปี 38 ที่รู้กันว่า น้ำท่วมหนักที่สุดหนักยิ่งกว่าปี 49 ด้วย แต่น้ำในเขื่อนภูมิพลกลับมีปริมาณน้อยมาก แต่พื้นที่ใต้เขื่อนลงมาน้ำกลับท่วมหนัก

ตรงนี้คุณผู้อ่านพอจะมองอะไรออกมั้ยครับ? ผมคงไม่ต้องอธิบาย เพราะคุณผู้อ่านของผมฉลาดทุกคน

เช่นเดียวกันเส้นน้ำเงินปี 53 มีน้ำท่วมหนักพอควร แต่กราฟน้ำในเขื่อนกลับช่วงต้นปีถึงกลางปีน้อยมาก?

เพราะอะไร? คำตอบก็คือ ปี53 เป็นปีที่ฤดูแล้งจัดยาวนาน แต่กลับมีฝนหนักในปลายปีอย่างมาก สังเกตในเดือนตุลาคม 2553 กราฟเริ่มพุ่งชัน และอุทกภัย53ก็เริ่มในเดือนตุลาคม จนถึงปลายปี เช่นที่ลพบุรี โคราช หาดใหญ่เป็นต้น (ผมได้อธิบายอย่างชัดเจนในบทความเรื่อง การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่ถูกต้องตามแนวพระราชดำริ

ผมจะขอสรุปเส้นกราฟคร่าว ๆ ว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคมของทุกปี เส้นกราฟปริมาณน้ำในเขื่อนจะมีลักษณะพุ่งชันแทบทุกครั้ง ต่างกันตรงที่น้ำในเขื่อนก่อนหน้านี้จะมีปริมาณมากหรือน้อยเท่านั้น

แล้วคุณผู้อ่านคิดว่า เจ้าหน้าที่เขื่อนเขาไม่รู้ข้อมูลนี้เหรอครับ

เจ้าหน้าที่เขาก็รู้ครับ เขาก็ได้พยายามพร่องน้ำแล้ว แต่ปี 2554 ฝนตกในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม หนักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ตกทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน มีสภาวะน้ำท่วมหนักอยู่แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน แถมตามประตูระบายน้ำในแม่น้ำ ลำคลองต่าง ๆ มีปัญหาชาวนาไม่ยอมให้เปิดประตู

และยังมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าหน้าที่เขื่อนอีกหลายอย่าง เช่นภาวะน้ำท่วมใต้เขื่อน พายุที่คาดเดาไม่ได้ ปัญหาการเปิดประตูระบายน้ำในแต่ละท้องที่

ฉะนั้น ใครที่บอกว่าเขื่อนไม่พร่องน้ำ ผมว่าดีแต่ปากทั้งนั้นครับ

--------------------

มาดูกราฟเขื่อนสิริกิติ์ ปี38 49 53 54 บ้าง


กราฟจาก thaiwater.net

เส้นกราฟของเขื่อนสิริกิติ์ชัดเจนมากที่ว่า ทั้งปี 38 49 54 ปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากพอ ๆ กันทั้ง 3 ปี ครับ แถมปี 38 น้ำเต็มเขื่อนเร็วกว่าด้วยซ้ำ

และเส้นกราฟก็พุ่งชันในเดือนสิงหาคมเหมือนกันทุกปี

แต่ทำไมปี 2554 นี้มีแต่คนด่าว่า ทำไมเขื่อนไม่รีบพร่องน้ำ?

ถ้าการระบายน้ำลงมามันง่ายก็คงดีครับ ผมเขียนไว้ตั้งแต่บทความที่แล้วว่า ถ้าปลายทางคือประตูระบายน้ำเปิดไม่ได้ แล้วต้นทางเขื่อนจะระบายยังไง?

โอเค ถ้าใครอยากด่าเขื่อน ก็ไปด่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนะครับ เพราะนี่แหล่ะคือหน่วยงานหลักที่คุมเขื่อนใหญ่

ส่วนถ้าใครอยากจะด่ากรมชลประทานไม่เปิดประตูระบายน้ำ ก็อย่าลืมไปด่าชาวนา นักการเมืองบางคน ชาวบ้านบางแห่งที่มาขัดขวางการเปิดประตูระบายน้ำด้วยนะครับ

รายละเอียดเรื่องเขื่อน ใครสนใจมากกว่านี้อย่าลืมย้อนกลับไปอ่านบทความก่อน ๆ สำหรับผม ผมไม่โทษเขื่อนครับ

เพราะถ้าดูจากกราฟของทั้งสองเขื่อน ถ้ารัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน ไม่อั้น เร่งระบายน้ำเสียตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ให้ประตูน้ำเปิดได้ทุกประตูในทุกแห่ง ทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ให้ได้ น้ำไม่ท่วมหนักเท่านี้แน่นอน


----------------------------------

เรียนรู้คน

วันนี้ 29ิตุลาคม ผมยังเห็นข่าวนี้ เมื่อเวลา 12.04 น. วันที่ 29 ตุลาคม นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ทางช่อง3 แจ้งข่าวด่วนผ่านรายการว่า มีประชาชนไปทำลายคันกั้นน้ำบริเวณชุมชนวัดนาวง ด้านหลังหมู่บ้านเมืองเอก ซึ่งหากคันกั้นน้ำแตกจะทำให้น้ำไหลทะลักเข้าคลองประปาได้ ส่งผลต่อการผลิตน้ำในกรุงเทพฯ

ซึ่งพอตอน3โมงเย็น ผมยังเห็นข้อความวิ่งทางช่อง11ว่า การประปาวอนขอชาวบ้านชุมชนวัดนาวง กรุณาอย่าพังคันกั้นคลองประปา เพราะจะกระทบกับการผิตน้ำประปา กระทบคน10ล้านคนในกรุงเทพฯ

คุณผู้อ่านครับ เห็นมั้ยครับว่า ถ้ารัฐบาลไม่ประกาศพรก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ เราก็จะเห็นชาวบ้านทำลายคันกั้นน้ำแบบนี้ในหลายท้องที

และที่การระบายน้ำล่าช้า ไม่เป็นระบบก็เพราะปัญหาชุมชนไม่ให้ความร่วมมือนี่แหล่ะครับ

ฉะนั้น ผมถือว่า นี่คือความผิดพลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่สามารถควบคุมคนได้ ถ้าควบคุมคนไม่ได้ แล้วส่งผลต่อความเสียหายของส่วนรวม แล้วจะให้เป็นรัฐบาลได้อย่างไร?

วิธีเดียวที่ไม่ต้องใช้พรก.ฉุกเฉิน คือ ต้องส่งนายกฯลงไปกราบตีนประชาชนให้ทุกท้องที่ ถ้าไม่ไปก็จะเห็นข่าวแบบนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ

ฉะนั้น นี่คือความล้มเหลวแล้ว ที่นายกรัฐมนตรีต้องไปกราบชาวบ้านด้วยตัวเองเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้

อย่างข่าวคลอง 8 คลอง 9 ที่นายกฯ ลงไปกราบน่ะ คน 2ิคลองนี้ขวางการเปิดประตูระบายน้ำมาเป็นเดือนแล้วครับ ท่านนายกฯ ทำไมไม่รีบไปกราบเสียตั้งแต่ต้นเดือน

ถ้านายกฯ ไปกราบให้ทุกที่เสียตั้งแต่แรก น้ำจะไม่ท่วมหนักเท่านี้แน่นอน แล้วนายกฯ จะไปได้ทุกท้องที่มั้ย?

----------------------------

ศปภ.

ศูนย์นี้มีประโยชน์ตรงไหนครับ? ช่วยบอกผมที?

ก็ขนาดตัวศูนย์เองยังเอาตัวไม่รอด แล้วประชาชนจะพึ่งอะไรศูนย์นี้ได้

ยิ่งลักษณ์เข้าเฝ้าในหลวงเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ในหลวงทรงแนะนำให้รีบผันน้ำระบายออกทางตะวันออกให้มาก แต่จนถึงวันนี้ ทำไมการระบายน้ำทางตะวันออกกลับน้อย สมุทรปราการมีประตูน้ำและเครื่องสูบน้ำอย่างดีรออยู่ แต่กลับไม่มีน้ำไปให้สูบออกทะเล

----------------------------

ดูแผนที่เขื่อนต่างๆที่รับน้ำแม่น้ำในภาคเหนือ ตามนี้ครับ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย!!

เราจะเห็น เขื่อนภูมิพล ความจุ 13,000 ล้านลบ.ม. รับแม่น้ำปิง

เขื่อนสิริกิติ์ ความจุ 9,500 ล้านลบ.ม. รับแม่น้ำน่าน

เขื่อนขนาดเล็กอย่างกิ่วลม ความจุ 106.22 ล้านลบ.ม. และเขื่อนกิ่วคอหมา ความจุ 170.28 ล้านลบ.ม. ทั้งสองเขื่อนนี้ รวมกันมีไม่ถึง 300ล้านลบ.ม. รับแม่น้ำวัง

และที่สำคัญคือ แม่น้ำยม ไม่มีเขื่อนครับ

และที่ท่วมหนักคราวนี้ เพราะแม่น้ำยม และแม่น้ำวัง ก็มีน้ำมากกว่าทุกปีครับ

ฉะนั้นเราจะมัวโทษเขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์คงไม่ได้ เพราะน้ำไม่ได้มาจากแค่ 2 เขื่อนนี้เท่านั้นครับ

และให้สังเกตเส้นทางน้ำ น้ำจะมาแยกที่จังหวัดชัยนาทตรงเขื่อนเจ้าพระยา ไปทางตะวันตกเข้าสู่สุพรรณ แล้วไปลงแม่น้ำท่าจีนก่อนลงทะเลที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วยังเห็นแม่น้ำสุพรรณจะแยกไปทางแม่น้ำแม่กลองที่สมุทรปราการไปลงทะเลได้ด้วยเช่นกัน

แต่จนวันนี้ สมุทรสงครามกลับไม่ค่อยมีน้ำไปลงทะเล?

------------------------

ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ คือพื้นที่สีเขียว

ผังเมืองเดิมกำหนดให้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีเขียว และที่สำคัญคือเป็นทางระบายน้ำ flood way

แต่นักการเมืองก็ยังดันทุรังไปสร้างสนามบินในหนองงูเห่า ซึ่งเป็นการขวางทางระบายน้ำ แล้วนักการเมืองก็แก้ผังเมืองเพื่อให้สร้างสนามบินได้ สร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ 

คูคลองด้านตะวันออก รวมทั้งคลองรังสิต มีมาตั้งแต่สมัยร.5 ทรงดำริให้ขุดไว้

คลองในกรุงเทพฯ หลายๆคลอง คลองชลประทานหลายคลอง ก็ได้กำเนิดจาก ในหลวงรัชกาลต่างๆทรงสั่งให้ขุดไว้ ผ่านมาร้อยกว่าปี เราก็ยังต้องใช้คลองเดิมๆ ในการระบายน้ำ แถมมีคลองน้อยลงด้วยซ้ำ

ยิ่งเมื่อประเทศไทยได้เป็นประชาธิปไตยแบบที่มีแต่ประชาชนชอบเรียกร้องสิทธิ แต่ละเลยการทำหน้าที่ 

นักการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยทุกยุคมันไม่เคยสนใจขุดคลองเพิ่ม มันสนใจแต่ถมคลองสร้างถนน

เห็นรึยังครับ นักการเมืองไทยมันโหลยโท่ยเพียงใด ??

-------------------------------

ทีนี้ผมจะชี้ความผิดพลาดของกรมชลประทาน ให้ดู!!

ย้อนชมในหลวงทรงเรียกประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วมปี38 โดยเฉพาะใครที่บุกรุกflood way ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ถือว่าผิดกฏหมาย !!



ในหลวงทรงเตือนแล้วว่า อย่าสร้างอะไรขวางทางน้ำไหล!! แต่ถ้ามีสิ่งกีดขวางแล้ว ก็ต้องฝังท่อลงใต้ดินลอดไป เพื่อระบายน้ำได้

และเมื่อคุณผู้อ่านได้ดูจากคลิปแล้ว ในหลวงทรงตรัสว่า ถ้าเร่งระบายน้ำแล้ว อาจทำให้ตลิ่งพัง ก็ต้องยอมให้พัง แล้วไปซ่อมทีหลัง

บ้านเรือนที่อยู่ริมคลองอาจเสียหายบ้าง ก็ต้องยอมให้พัง!!
แล้วไปชดเชยให้เขาทีหลัง เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจประเทศเอาไว้

แต่วันนี้กรมชลประทานไม่ยอมเร่งระบายน้ำออกทางตะวันออก อ้างว่ากลัวตลิ่งพัง!!


และปี38 ในหลวงยังทรงตรัสให้เจาะถนนด้วยครับ!!เพราะถ้าให้น้ำเอ่อขึ้นเอง ถนนจะพังมากกว่านี้ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เจาะ!!

คลิกรูปเพื่อขยาย!!



-----------------------------

หลักการบริหารน้ำที่ถูกต้อง!!

และถ้าคุณผู้อ่านได้ดูคลิปจบทั้งหมด ประเด็นเรื่องหลักการบริหารน้ำที่ในหลวงสอนกรมชลประทานคือ

หน้าฝน เขื่อนต้องเก็บน้ำ เพื่อไว้ใช้ยามแล้ง แต่ประตูน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อนทั้งหมดตามแม่น้ำ ลำคลอง ในหน้าฝนต้องทำให้แห้งไว้!!

แต่พวกที่ไม่รู้เรื่องในวันนี้ กลับบอกว่า เขื่อนต้องพร่องน้ำในหน้าฝน แล้วประตูน้ำตามแม่น้ำลำคลองกลับไม่ยอมเปิดระบายน้ำ!!

ฉะนั้นที่ปี 2554 น้ำท่วมหนักนั่น ก็เพราะ พื้นที่ใต้เขื่อน ไม่เปิดประตูระบายน้ำด้วยเหตุผลที่ผมเคยอธิบายมาแล้ว เมื่อประตูน้ำไม่เปิด ต้นน้ำจะปล่อยน้ำได้อย่างไรครับ?

คลิกอ่าน อธิบดีกรมชลประทานเปิดใจ กับข้อหาบริหารน้ำผิดพลาด!


4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ02 พฤศจิกายน, 2554 01:52

    ขอบคุณมาก...

    เห็นความผิดพลาดหลายอย่าง

    และต้องรู้ให้ได้ว่ามีอะไรที่สุพรรณ

    k542

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ05 พฤศจิกายน, 2554 13:59

    ขอบคุณครับ ..

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ05 ธันวาคม, 2554 16:15

    เกรงใจคุณบรรหารเขาหน่อยคร้าบ k542 แถวนั้นคุณบรรหารเขาไม่เกี่ยว เห็นคนเขาบอกว่าเป็นที่นาของดูไบไม่ใช่เหรอ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ07 ธันวาคม, 2554 18:11

    มันก็มีส่วนป้องกันน้ำถ้วมได้ด้วยกัน มันอยู่ที่การบริหารจัดการให้พอดีได้ อย่าดีแต่พูดชี้นำให้เกิดความเสียหายต่อฝ่่ายใดฝ่ายหนึ่งดีกว่ามีแต่คนเก่งหลังหวยออกทั้งนั้น ขอแนะนำให้ช่วยกันคิดและทำตามในหลวงท่านแนะนำดีกว่าไหมวันๆมีแต่งด่าและตำหนิกันตลอด เอาในหลวงเป็นตัวอย่างกันบ้างคงดีนะ เห็นไหมท่านไม่เคยตำหนิหรือกล่าวโทษไครเลยผิดก็แนะนำอย่างสร้างสรรญไม่เหมือนกับพวกหลังวันหวยออกเก่งไปหมด

    ตอบลบ

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม