.akecity
คุณวิกรม กรมดิษฐ์ มาออกรายการจับเข่าคุย แล้วก็ยังนำเสนอนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติของไทยให้เหมือนที่เวียดนามสนับสนุน แต่คุณวิกรม ลืมไปอย่างว่า คนไทยปัจจุบันหรือในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยสนใจเทคโนโลยีดีพอ
.
มีอยู่คำถามนึงที่สรยุทธ ถามที่ทำเอา คุณวิกรม ถึงกับนิ่งอึ้งไปพักนึง
.
สรยุทธ - ''ถ้าเราเน้นการลงทุนจากต่างชาติมากๆแบบเวียดนาม แล้วพอวันดีคืนดีเป็นแบบวันนี้ เขาเกิดถอนทุนกลับไปหมดแล้วเราจะไม่แย่เหรอ?''
.
วิกรม - (อึ้งอยู่พัก) ''ก็ดูจีนพี่ใหญ่เวียดนามสิ ตอนนี้เขาเจริญไปไกลแล้ว''
.
(ขออภัย หากผมไม่ได้ถอดคำพูดให้ตรงเป๊ะ อาศัยเท่าที่จำได้ครับ)
.
--------------------------
วิจารณ์แนวคิดคุณวิกรม
ไทยเราก็เป็นได้แค่ลูกจ้างผลิต ที่ยากจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ในขณะที่จีนที่เพิ่งเปิดประเทศรับนักลงทุนมาไม่กี่ปี
.
แต่จีนในตอนนี้กลับสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้แล้ว ซึ่งจีนก็เลียนแบบวิธีการแบบญี่ปุ่นในอดีต คือการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีเก่งจนสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นของตัวเองได้
.
ขอถามหน่อยว่า คนไทยยังผลิตรถหรือเครื่องยนต์ได้ด้วยเทคโนโลยีของตัวเองได้หรือยัง หรือสามารถผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ของตัวเองได้หรือยัง โดยไม่ต้องจ้างบริษัทต่างชาติผลิต
.
กี่ปีๆ ที่ผ่านมา คนไทยยังไม่เคยผลิตเครื่องยนต์ของตัวเองได้เลย และไม่สามารถผลิตโทรศัพท์มือถือได้ด้วยเทคโนโลยีตัวเองได้สักรุ่นเดียว โดยไม่ต้องพึ่งส่วนประกอบเทคโนโลยีจากต่างชาติ ทั้งๆที่คนไทยเราใช้มือถือเป็นก่อนคนจีนด้วยซ้ำ
.
ฉะนั้นหากเราเก่งได้เหมือนจีนหรือญี่ปุ่นในอดีต เราก็ไม่ต้องกลัวเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ แต่ทุกวันนี้เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์เท่าจีนหรือเวียดนามเลย
.
แต่สะเออะอยากไฮเทคด้วยการซื้อลูกเดียว!
.
ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ คุณวิกรมทุกเรื่อง ผมก็เห็นด้วยหลายประเด็น
.
แต่ที่ไม่เห็นด้วย ก็คือเรื่องที่คุณวิกรมสนับสนุนการพึ่งพาทุนต่างชาติมากเกินไป ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยศักยภาพเยาวชนไทยแพ้เวียดนามไปแล้ว
.
สรุปง่ายๆก็คือ คุณวิกรม มองข้อดีของนโยบายสนับสนุนการลงทุนเวียดนามเกินไป ซึ่งก็คล้ายนโยบายของไทยในอดีตสัก20กว่าปีที่แล้ว โดยลืมศักยภาพทางเทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาเองได้
.
จีนรับจ้างผลิตไม่กี่ปี แต่สุดท้ายกลับพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้ สามารถตีตลาดเทคโนโลยีสู้กับต่างชาติได้
.
เช่น Hier ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของจีนในเรื่องเทคโนโลยีเครื่องไฟฟ้าไปไกลระดับโลกไปแล้ว ของเราล่ะ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าธานินทร์ เป็นไงบ้างตอนนี้ ?
.
หรือจะ lenovoของจีน ที่อาจหาญซื้อกิจการของIBM pc.ได้ แล้วของไทยเราล่ะทำได้แค่ไหน
.
ไทยเปิดประเทศก่อนจีนหลายสิบปี แต่มาวันนี้ ตามก้นจีนไม่ทันแล้ว
.
ไทยเราก็เป็นได้แค่ลูกจ้างผลิตชั้นดีเท่านั้น และยังได้อยู่แค่นั้น!? (และอีกไม่นานก็จะถูกเวียดนามแซง)
."
********************************************
.
ผมก็พอเข้าใจว่า ทำไมคุณวิกรมถึงมีแนวคิดสนับสนุนนักลงทุนต่างชาตินัก?
.
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ธุรกิจของคุณวิกรม เป็นธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม(อมตะ) จึงเป็นธุรกิจที่มีรายได้จากการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งทุนก็มาจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
แน่นอนว่า คุณวิกรม ก็ต้องมีความเห็นไปแนวทางแบบนี้แน่นอน เพราะทุกคนก็ย่อมต้องปกป้องผลประโยชน์ตนก่อนทั้งนั้น ธรรมดา!
.
คุณวิกรมเป็นคนที่เห็นว่า มีเงินถึงจะมีความสุข ถึงขนาดเสนอในรายการว่า ไทยเราน่าจะให้ต่างชาติมาเช่าที่ดินในไทยได้ เหมือนจีนที่เคยให้อังกฤษเช่าฮ่องกงไป 99 ปี
แต่ทุกวันนี้คุณวิกรมเองก็กลุ้มเพราะเงินทองร่อยหรอเหมือนกัน สุขได้เพราะมีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีสุข นี่แหละความคิดคุณวิกรม
.
ผิดถูกหรือไม่ ผมไม่ขอวิจารณ์ เพราะความสุขของคนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ผมแนะนำให้ฟังนิทานเรื่อง นักลงทุนกับชาวประมงเม็กซิกัน ลองฟังดูนะครับ
คุณผู้อ่านเคยทราบมั้ย ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ การใช้ไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่ ไม่ใช่การใช้ในครัวเรือน แต่เป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรม!!
ต่างชาติมาลงทุนผลิต จ้างคนไทยด้วยค่าแรงถูกๆเสียภาษีน้อยๆ ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน
แต่ไทยเราไม่เคยนึกถึงต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไทยเราต้องสูญเสียไป นักลงทุนต่างชาติมาผลิตสินค้า กอบโกยกำไรออกไป แล้วก็ทิ้งมลพิษไว้ในแผ่นดินไทย
ต้นทุนการกำจัดมลพิษนี่แหล่ะ คือต้นทุนทางสังคม ต้นทุนของชีวิตของคนไทยที่มีค่ามหาศาล มีค่ามากกว่าเศษเงินค่าแรงที่ให้กับคนงานไทย แต่กลับไม่ค่อยมีนักการเมือง นักธุรกิจคำนึงถึงจุดนี้เลย!?
.
********************************************
.
สุดท้ายขอเพิ่มเติมบทความจากเว็บของคุณจิระนันท์ แฟนพันธุ์แท้การ์ตูนยุคคลาสสิค ในเรื่อง
.
10 ประเด็นที่ทำให้คนไทยล้าหลัง…ในมุมมองของ วิกรม กรมดิษฐ์
.
วิกรม กรมดิษฐ์ออกอากาศทางวิทยุ อสมท.รายการซีอีโอวิชั่น10-11 มกราคม 2550
.
[01]คนไทยรู้จักตัวตนของเราเองต่ำมาก กล่าวคือ รู้จักหน้าที่ของตัวเองต่ำมาก โดยเฉพาะหน้าที่ต่อสังคม ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะมีสำนึกต่อสังคมส่วนรวมสูงมากของเราจะไม่คำนึงถึงส่วนรวม แต่จะเป็นประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนทำให้เกิดวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน .
โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจทุกระดับชั้น จนมีคำพูดว่า ธุรกิจการเมือง ธุรกิจราชการ ธุรกิจการศึกษา ทำให้ทุกคนแสวงหาอำนาจเพื่อจะตักตวงเพราะความไม่รู้จักตัวตน ไม่รู้จักประเทศของตัวเองเช่นนี้แล้ว ทำให้ประเทศชาติของเราล้าหลังไปเรื่อย ๆ
.
[02]การศึกษาของไทยยังไม่ทันสมัยสอนให้คนเห็นแก่ตัวมากกว่า ขาดจิตสำนึกต่อสังคม แม้แต่ภาษาคนไทยจะเก่งแต่ภาษาของตัวเอง ทำให้เราขาดโอกาสในการแข่งขันกับต่างชาติในเวทีต่าง ๆ ประเทศอื่น ๆ รู้จักคนไทยน้อยมาก .
เพราะคนไทยไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง เราจึงตามหลังชาติอื่น เพราะคุณภาพการศึกษาของเราไม่ทันสมัย จะเห็นว่าคนมีฐานะจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
.
[03]คนไทยมองอนาคตไม่เป็น เท่าที่สังเกตเห็นว่าคนไทยกว่า 70% ทำงานแบบไร้อนาคต แบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ น้อยนักที่จะวางแผนให้ตัวเองอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายที่ชัดเจนในอนาคต สะสมความสำเร็จไปอย่างเป็นลำดับ หรือเป็นเพราะไม่กล้าฝัน หรือไม่มีความฝันก็ไม่แน่ใจ และชอบพึ่งสิ่งงมงาย โชคชะตา พอใจทำงานแบบตำข้าวสารกรอกหม้อ ทำให้ประสิทธิภาพของเราไม่ทันกับการแข่งขันระดับโลก
.
[04]คนไทยไม่ค่อยจะจริงจังในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การรับปากของเรามักทำแบบผักชีโรยหน้า หรือเกรงใจ แต่ทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากประสบการณ์ทำธุรกิจกับชาวต่างชาติจะพบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป คนเขาจะให้ความสำคัญกับสัญญาข้อตกลงอย่างเคร่งครัด
.
เพราะหมายถึงความเชื่อถือในระยะยาว ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ปัจจุบันคนไทยถูกลดเครดิตในการเชื่อถือด้านนี้ลงไปเรื่อย ๆ
.
[05]การกระจายความเจริญยังไม่เต็มที่ ประเทศของเรากระจุกตัวความเจริญเฉพาะในเมืองใหญ่ ประชากรประมาณ 60-70% ที่อยู่ห่างไกล จะขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและชุมชน ในต่างประเทศ .
การสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ห่างไกล แต่มีองค์ประกอบอื่น ๆ สนับสนุนเขาก็ลงทุน การสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค จะเป็นประโยชน์ ทำให้เป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการทางธุรกิจอย่างมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริม
.
[06]การบังคับกฎหมายไม่เข้มแข็งและดำเนินอย่างไม่ต่อเนื่องสังคมไทย ชอบทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ปราบปรามไม่จริงจัง อาจได้ยินกรณีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีอำนาจหรือบริวารก็ตาม จะทำแบบเอาตัวรอดไปก่อน ไม่มีมาตรฐาน ต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว ข้อนี้กระบวนการยุติธรรมจะต้องปรับปรุง
.
[07]สังคมไทยชอบอิจฉาตาร้อน ไม่ค่อยเป็นสุภาพบุรุษ และชอบเลี่ยงเป็นศรีธนญชัย เมื่อจนตรอก ในวงการเราจะพบกระแสของคนประเภทนี้ปะปนมากขึ้นจะเพราะเป็นเพราะสังคมเรายอมรับ หรือยกย่องคนที่มีอำนาจ มีเงิน แต่ไม่มีใครรู้ภูมิหลัง .
โดยเฉพาะคนที่ล้มบนฟูกแล้วไปเกาะผู้มีอำนาจ เอาตัวรอดหน้าตาเฉย คนพวกนี้ร้ายยิ่งกว่าผู้ก่อการร้ายเสียอีก เพราะทำความเสียหายต่อบ้านเมืองมากกว่า และจะเป็นประเภทดีแต่พูด มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทำให้คนดีไม่กล้าจะเข้ามาเพราะกลัวเปลืองตัว
.
[08]เอ็นจีโอบ้านเราค้านลูกเดียว ทำให้เราเสียโอกาสในการพัฒนา เพราะเอ็นจีโอบางกลุ่มที่อิงผลประโยชน์อยู่ ถ้าจะพูดกันแบบมีเหตุผล ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เอ็นจีโอดี ๆ ก็มี แต่บ้านเรามีน้อย กรณีน้ำท่วมเพราะไม่มีเขื่อนรองรับเพียงพอ พอเกิดน้ำท่วม พวกที่ค้านจะแสดงความรับผิดชอบด้วยหรือเปล่า บ่อยครั้งที่ประเทศเราเสียโอกาสอย่างมหาศาล เพราะการค้านหัวชนฝา เหตุผลจริง ๆ ไม่ได้พูดกัน
.
[09]คนไทยอาจจะไม่พร้อมในเวทีโลก เพราะไม่ถนัดภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาตัวเองทำให้โลกภายนอกไม่รู้จักคนไทยเท่าที่ควร และการจัดการตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีการค้าระดับโลก ของเราขาดทักษะและทีมเวิร์คที่ดี ทำให้เราสู้ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ไม่ได้
.
[10]คนไทยเลี้ยงลูกไม่เป็น ปัจจุบันเด็กไทยขาดความอดทน ไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นขี้โรคทางจิตใจ ไม่เข้มแข็ง เพราะเราเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่สอนให้ลูกช่วยตัวเอง ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะกระตือรือร้นช่วยตนเอง ขวนขวาย แสวงหา ค้นหาตัวเอง และเขาจะสอนให้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
.
คุณวิกรมแสดงความเห็นว่า การอบรมเยาวชนมาจาก 3 ทาง-หนึ่งภายในครอบครัว- สองจากโรงเรียน- และสามจากสังคม หรือสื่อสารมวลชน
.
ในส่วนนี้พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพราะถ้าหากสื่อมวลชนทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง หรือเพื่ออำนาจต่อรองเท่านั้น และสังคมปราศจากสื่อที่จะทำหน้าที่นำเสนอสาระที่เป็นความจริง โดยไม่มอมเมาบิดเบือนแล้ว เมื่อนั้นสังคมจะวิบัติมากยิ่ง ๆขึ้นอีกต่อไป
.
วิกรม กรมดิษฐ์ออกอากาศทางวิทยุ อสมท.รายการซีอีโอวิชั่น10-11 มกราคม 2550
.
ขอขอบคุณ แฟนพันธุ์แท้การ์ตูนยุคคลาสิค คุณจิระนันท์ จิระบุญญานนท์ สำหรับบทความนี้ครับ
.
.
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com