วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผิดหวังอาจารย์สุขุม กรณีโหวตโน




ที่ผมบอกว่าผิดหวังก็คือ อาจารย์สุขุม นวลสกุล ซึ่งเป็นนักวิชาการนักพูดที่ผมนิยมชมชอบมาก อีกทั้งอาจารย์สุขุม ก็เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่สื่อมวลชนให้การยกย่องประหนึ่งเป็นกูรูทางด้านการเมืองไทยลำดับแรกๆของวงการ

ทีนี้เรื่องมันเกิดมาจาก ตอนเช้ามืดผมจะชอบดูรายการช่วยคิดช่วยทำทางช่อง3 ของคุณศิริบูรณ์แทบทุกเช้า และที่ผมชอบมากสุด ก็จะเป็นวันที่รายการเชิญอาจารย์สุขุมทั้งสองคนมาออก คิออาจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ แห่งสวนดุสิตโพล กับอาจารย์สุขุม นวลสกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาตร์ ม.รามคำแห่งมาออกในทุกวันพุธ

แต่เมื่อเช้าวันพุธที่29 มิ.ย.54ที่ผ่านมา รายการร่วมมือร่วมใจ ก็เชิญท่านอาจารย์สุขุมทั้งสองท่านมาออกตามปกติ ซึ่งช่วงแรกของรายการก็มีสกู๊ปเกี่ยวกับคำถามเรื่องการโหวตโน โดยให้อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ออกมาพูดถึงเรื่องการกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ว่ามีผลอย่างไร

ซึ่งอาจารย์ปริญญา กลับบอกว่า กาไปก็ไม่มีผลใดๆทางการเมือง แค่มีไว้ให้คนรักษาสิทธิเท่านั้น

และพอจบสกู๊ป ก็ตัดกลับเข้าไปในรายการ ทีนี้คุณศิริบูรณ์ก็พยายามจะพูดย้ำว่า การโหวตโน ไม่มีความหมาย กาไปก็เสียคะแนนไปเปล่าๆ ซึ่งอาจารย์สุขุมทั้งสองก็ไม่ได้มีท่าทีคัดค้านเรื่องนี้

ผมน่ะไม่สนหรอก ถ้าอาจารย์ปริญญาผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายจะออกมาอธิบายอะไรมั่วๆ

แต่ที่ผมสนก็คือ อาจารย์สุขุม นวลสกุล เพราะว่ามีประชาชนฟังและเชื่อถือคำพูดของอาจารย์สุขุมมาก หากท่านไม่แม่นกฏหมาย(เพราะท่านไม่ใช่นักกฏหมาย) ท่านก็ไม่น่าจะออกความเห็นชี้นำไปในทางที่ผิด ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมย์ที่กฏหมายบัญญัติไว้

แถม!!ในเช้าวันศุกร์ที่1ก.ค.54 รายการช่วยคิดช่วยทำ ก็ยังได้เชิญ2อาจารย์สุขุม มาออกรายการเป็นกรณีพิเศษอีกครั้ง เนื่องด้วยใกล้ถึงวันเลือกตั้ง

คุณศิริบูรณ์ก็ยังย้ำอีกว่า การโหวตโนจะทำให้เสียคะแนนไปเปล่าๆ เพราะไม่มีผลอะไร??

อาจารย์สุขุม นวลสกุลก็ยังช่วยสำทับเข้าไปซ้ำอีกว่า ถ้าคนไปโหวตโนมากๆ มากจนชนะ จะมีคนเอาไปอ้างได้ว่า คนไทยไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันนี้จะไม่ค่อยดี

ซึ่งตรงนี้ อาจารย์สุขุม นวลสกุล ท่านคงเริ่มตกยุคไปแล้ว เพราะท่านไม่เข้าใจนิยามของการโหวตโนในระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเขาก็มีใช้กัน ซึ่งท่านยังเอาอ้างใช่ในทางที่ผิดๆ

อีกทั้งในตอนเย็นวันเดียวกัน อาจารย์สุขุม ก็ไปออกรายการเจาะข่าวเด่น กับสรยุทธ อาจารย์สุขุมก็ยังจะย้ำว่า โหวตโนอาจเป็นการปฏิเสธประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่อย่างที่อาจารย์สุขุมพยายามจะบอก

แต่ก่อนที่ผมจะอธิบายต่อไป ผมอยากให้คุณผู้อ่าน ดูพ.ร.บ.เลือกตั้งฯทั้งปี2550 และปี2554 ในมาตราที่88 นั้นเหมือนกัน ตามนี้



ส่วนใครอยากไปอ่านฉบับเต็มๆ ก็ไปอ่านได้ที่เว็บนี้ http://www2.ect.go.th/download.php?Province=nongkhai&SiteMenuID=7640


---------------------------------------


คุณผู้อ่าน อ่านมาตรา88 ในพ.รบ.เลือกตั้ง ทั้งปี50 และปี54 พอจะเข้าใจมั้ยครับ??

ถ้ายังไม่เข้าใจ ผมจะยกคำอธิบายของศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตนายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่มีไว้ดังนี้

ศ.ดร.ธีรภัทร์ ระบุว่า กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะได้รับการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้ผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งหรือโหวตโน ซึ่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ฉบับที่ 2 ปี 2554 มาตรา 27 และ 28 ที่แก้ไขมาตรา 88 และ 89 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งปี 2550 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

โดยมาตรา 88 ใหม่ บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนเดียวต้องเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการข้างต้น และหากไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง และหากการเลือกตั้งรอบสองยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการข้างต้นอีก ก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสาม และการเลือกตั้งรอบสามนี่เองที่ไม่ต้องอาศัยหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการ ผู้สมัครได้รับคะแนนจำนวนเท่าใดก็ตามขอให้มีเพียงคะแนนเดียวก็ถือว่าได้รับเลือกตั้ง

V

V

ผมขอแปลความให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้าผู้สมัครได้คะแนนแพ้คะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือแพ้คะแนนโหวตโน ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่!! โดยสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ถึง3ครั้ง

จริงๆแล้วกฏหมายในเรื่องนี้ ยังบัญญัติไว้ไม่ดีพอ เพราะไม่ได้ห้ามคนที่แพ้คะแนนโหวตโน ลงเลือกตั้งอีก

แต่ผมขอสรุปตรงนี้คร่าวๆไว้ก่อนแล้วกันว่า คะแนนโหวตโนมีผลทางกฏหมาย เพียงแต่ตอนนี้กฏหมายที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะทำให้คะแนนโหวตโนมีอำนาจน่าเกรงขามเหมือนอย่างในประเทศอื่นๆ

-----------------------------------------

สิ่งที่ผมปรารถนาในอนาคตต่อไป คือผมอยากให้แก้กฏหมายเกี่ยวกับคะแนนโหวตโนให้มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ซึ่งผมได้เคยไปโพสความเห็นไว้ที่ ผจก. ซึ่งมีคนเห็นด้วยตามนี้

กดที่รูปเพื่อขยาย


"ถ้าประชาชนไม่ชอบพรรค ไม่ชอบผู้สมัครในเขตนั้นๆ แล้วโหวตโนชนะในเขตนั้นๆ ก็ต้องมีการเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่อีกครั้ง
พอให้มีการเลือกตั้งซ่อมในเขตนั้นใหม่ พรรคเดิมที่แพ้โหวตโน ต้องไม่มีสิทธิลงในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้นด้วย"


แต่นั่นเป็นความเห็นสั้นๆ ที่ผมอยากให้ประชาชนไทยมีช่องทางอำนาจในการเลือกผู้แทนได้มากกว่าในปัจจุบัน

ประชาชนควรมีโอกาสเลือกคนที่เขาคิดว่าดีที่สุดเข้าไปทำงานเพื่อบ้านเมือง ไปเป็นตัวแทนของเขาในสภา

ไม่ใช่!!เป็นอย่างทุกวันนี้ ที่ประชาชนเหมือนถูกมัดมือชก ให้จำใจต้องเลือกไอ้คนที่เลวน้อยที่สุด!!เข้าไปเป็นตัวแทนพวกเขา

ผมหวังว่าต่อไปจะมีการแก้กฏหมายให้ การโหวตโนให้เป็นเสมือนอาวุธกำจัดนักการเมืองเลวๆได้ดียิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในเขตหนึ่ง  มีแต่พรรคการเมืองห่วยๆทั้งนั้น ส่งผู้สมัครไร้คุณภาพมาให้ประชาชนเลือก ซึ่งประชาชนเห็นแล้วว่า มีแต่ไอ้พวกกลุ่มอำนาจเดิมๆ หน้าเดิมๆ ประชาชนก็เลยกาไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร

ถ้าคะแนนโหวตโนในเขตนั้นๆ เอาชนะคะแนนของผู้สมัครจากทุกพรรคได้ ผมก็อยากให้พรรคที่แพ้คะแนนโหวตโน หมดสิทธิ์ส่งคนจากพรรคตัวเองมาลงเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นๆอีก

เท่ากับว่า ประชาชนได้กำจัดพรรคการเมืองที่แย่ๆออกไปได้ แล้วเปิดโอกาสให้พรรคใหม่ๆที่ยังไม่เคยส่งคนลงในเขตนั้นๆได้ส่งคนมาให้ประชาชนเลือกแทน

ถ้าเป็นแบบที่ผมว่าได้จริง คะแนนโหวตโน ก็เปรียบเสมือนอาวุธกำจัดพวกนักการเมืองน้ำเน่า หน้าเดิมๆ ให้ออกไป และเปิดโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่ๆ จากพรรคใหม่ๆ ได้เข้าสภาแทน "ใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย"

-----------------------------------

ถ้าคุณผู้อ่านยังจำได้ เมื่อปี49 ประชาชนก็เคยสั่งสอนพรรคการเมืองโกงกิน ด้วยการโหวตโนมาแล้ว ยังจำได้มั้ยครับ??

บทความบทนี้ ผมเขียนเพื่อต้องการเรียกร้องให้คะแนนโหวตโน เป็นอาวุธสั่งสอนนักการเมืองเลวๆ ไม่อยากให้ประชาชนที่ไม่รู้กฏหมายเข้าใจผิดว่า คะแนนโหวตโน ไม่มีผลทางกฏหมาย หรือคะแนนโหวตโน เป็นการไม่เอาประชาธิปไตย ซึ่งนั่นคือความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก!!

ผมหวังว่า ในอนาคตกฏหมายไทยจะกำหนดบทบาทคะแนนในช่องไม่ประสงค์เลือกใคร ให้มีอำนาจและพลังมากกว่าในปัจจุบันครับ การเมืองไทยจะได้พ้นวงจรอุบาทว์สักที





แนะนำอ่าน ยุคมิคสัญญีกับการเลือกตั้งไทย!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com


ผู้ติดตาม