ผมเคยเขียนเรื่องนิสัยส่วนตัวของผมอย่างนึงในบทความก็คือ ผมจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้รับรู้ว่า สถานที่สวยงามทางธรรมชาติที่ใด ๆ ก็ตามยังคงสมบูรณ์และงดงามดังเดิม โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเที่ยวที่แห่งนั้นเลย
เพราะผมคิดว่า วิธีอนุรักษ์ธรรมชาติที่งดงามให้คงอยู่ที่ดีที่สุดก็คือ ให้ธรรมชาติแห่งนั้น ๆ ห่างไกลมนุษย์มากที่สุด ถือเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีที่สุด
แน่นอน เราคงจะไปห้ามมนุษย์ผู้ยังมีกิเลส ยังอยากไปเที่ยว อยากไปชมธรรมชาติที่สวยงามก็คงจะห้ามไม่ได้ แต่อย่างน้อยการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว หรือคัดสรรนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและเข้าใจธรรมชาติสักหน่อย ก็น่าจะช่วยให้สถานที่ธรรมชาติสวยงามแห่งนั้น ๆ ยังคงความงดงามคงเดิมได้นานที่สุด
ทุกครั้งที่มีข่าวว่าสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ยังคงความสวยงามอยู่ ผมจะรู้สึกดีใจไปด้วย แม้ผมจะไม่เคยไปเที่ยวสถานที่นั้น ๆ เลยก็ตาม
เช่นเดียวกัน หากภูกระดึงเป็นสถานที่ ๆ เดินขึ้นไปด้วยความยากลำบาก ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงเท่านั้นที่จะขึ้นไปถึงยอดภูกระดึง ผมคิดว่า ใครที่เดินไปถึงยอดภูกระดึงได้ด้วยขาของตัวเองก็คงรู้สึกภูมิใจ
เช่นเดียวกัน หากผมเป็นคนสุขภาพไม่แข็งแรง หรือเดินชึ้นไปไม่ไหว ผมก็จะคิดว่า ผมก็ไม่ควรกระสันอยากจะไปถึงยอดภูกระดึงเลย เพราะแม้ไม่ได้ไป แต่ถ้าภูกระดึงยังสวยงามคงอยู่ ผมก็ดีใจแล้วแม้ผมจะไม่เคยขึ้นไปเลยก็ตาม
ส่วนในประเด็นที่ว่า ควรสร้างกระเช้าขึ้นไปยอดภูกระดึงดีไหม ?
คำตอบของฝ่ายสนับสนุน อ้างว่า จะได้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คนแก่ หรือคนที่ไม่แข็งแรงพอก็จะได้ขึ้นไปเที่ยวได้เช่นกัน และจะทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย
ผมเชื่อเลยว่า ที่ยกเรื่องคนแก่ อ้างคนไม่แข็งแรง มาอ้างนั้น สุดท้ายประเด็นหลักจริง ๆ ก็คือ ต้องการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดนั่นแหละ
คนที่เขาอยากรวยจากการมีนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงน่ะ ใจจริงเขาไม่สนหรอกว่า การสร้างกระเช้าจะมีผลกระทบหรือผลเสียต่อธรรมชาติของภูกระดึงมากเท่ากับเงินที่เขาจะได้หรอกครับ เพราะเจตนาของเขาจริง ๆ คือ มุ่งกอบโกยรายได้จากนักท่องเที่ยวมากกว่า
ภูกระดึง ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้งประเทศ และเป็นของคนทั้งโลก การที่ธรรมชาติสร้างภูกระดึงขึ้นมาไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว แต่เพื่อความสมดุลของธรรมชาติและเพื่อความสวยงามประดับโลก
แน่นอนอาจมีคนอ้างว่า ในต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น จีน หรือที่อื่น ๆ เขาก็มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูเขาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งนั้นแหละ
แต่ผมขอถามกลับว่า ในวันนี้คนไทยมีจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรักษาระเบียบวินัยของสังคมเท่ากับคนในประเทศที่เจริญแล้วเหล่านั้นแล้วหรือยัง ?
หรือถ้าคนไทยยังไร้ระเบียบวินัย ถามว่า กฎหมายไทยสามารถบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายจากคนไทยที่ไร้ระเบียบวินัยดีพอหรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่ !!!
อย่างกรณีตัวอย่าง ที่ประเทศญี่ปุ่น บนเกาะฮอกไกโด มีลุงเจ้าของต้นไม้สวยงามที่ยืนต้นโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่ง ลุงเขาจำใจต้องตัดต้นไม้นี้ทิ้งไป เหตุเพราะลุงทนเสียงบ่นของเพื่อนบ้านและชาวสวนลาเวนเดอร์โดยรอบบ่นไม่ไหว ที่มีพวกนักท่องเที่ยวจากจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวไทยที่ไร้มารยาท ไร้ระเบียบวินัย บุกเดินเข้าไปย่ำสวนผัก และแปลงผัก เพื่อจะไปถ่ายรูปต้นไม้ต้นนี้แบบใกล้ชิด
สุดท้ายลุงเจ้าของต้นไม้จึงจำใจต้องตัดต้นไม้นี้ทิ้งเพื่อตัดปัญหาไปเสียเลย
เมื่อผมได้อ่านข่าวนี้ ในฐานะที่ผมเป็นคนไทย ผมอึ้งและอายแทนครับ ทั้งอาย และละอายเลย แม้ผมจะไม่ใช่ผู้ก่อเหตุก็ตาม
หรืออย่างกรณีล่าสุด ทุ่งดอกหญ้าสีขาวกลางกรุง ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านผมนี่เอง
พอเป็นข่าวและลงในเว็บดัง สุดท้ายก็มีคนแห่ไปเที่ยวเพื่อถ่ายรูปแบบไม่เคารพสถานที่ บุกเข้าไปเหยียบย่ำต้นหญ้า เพื่อขอเข้าไปถ่ายเซลฟี่ไว้อวด ไว้แชร์
รวมทั้งทิ้งขยะกันเกลื่อนในพื้นที่ แถมยังจอดรถกันริมถนน ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ห้ามจอด แต่ก็นั่นแหละ จอดกันพรึบ ทำให้คนอื่น ๆ ที่สัญจรผ่านทางนี้ก็พลอยได้รับผลกระทบรถติดไปด้วย
เพราะความอยากเซลฟี่อยากอวด อยากแชร์รูปบนโซเชียลของพวกขี้อวดนี่แหละครับ
ผมว่า ค่านิยมขี้อวด ขี้แชร์ เพื่อจะแสดงตนว่า ทันสมัย ทันโลก อะไรทำนองนี้ เริ่มมีมากจนกลายเป็นปัญหาในสังคมไทยแล้วนะครับ
หรืออย่างกรณีภูทับเบิกก็เช่นกัน เห่อกันไปเที่ยวกันจนแออัด ตามที่สื่อนำเสนอจนเป็นข่าว และเที่ยวกันแบบไม่สนเลยว่า จะช่วยกันทำลายความสวยงามที่ควรรักษา ทั้งผู้ค้าขาย ผู้ทำรีสอร์ท บนภูทับเบิก ต่างร่วมกันตักตวงเงินตรากันถ้วนหน้า จนขยะล้นภูทับเบิก จนหน่วยงานรัฐต้องเข้าไปช่วยนำลงขยะลงมากำจัด
------------------------
ทั้งจากกรณีท่องเที่ยวกันแบบเห็นแก่ตัว แห่กันไปถ่ายรูปเพื่ออวด และความไม่เคารพสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น
หรือแม้แต่กรณีคนไทยไปโพสข้อความอย่างไม่สมควรในอินสตาแกรมรัชทายาทบรูไน อย่างไม่รู้จักกาลเทศะและเสียมารยาท
รวมถึงกรณีเกรียนไทยที่ผ่าน ๆ มาในอีกหลาย ๆ กรณี ทั้งการไปเกรียนในยูทูปขององค์การนาซ่า และกรณีอื่น ๆ อีกมากมาย จนจำไม่หวัดไหว
ที่คนไทยสมัยนี้ไร้มารยาทและเห็นแก่ตัว คิดแค่ว่า ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ในเมื่อกูพอมีเงินไปเที่ยว กูก็ต้องใช้ชีวิตให้คุ้มที่สุด โดยไม่เกรงใจผู้อื่นนั้น
ผมว่า มันเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ นำหลักสูตร "สมบัติผู้ดี" ในอดีตกลับมาสอนนักเรียนอีกครั้งได้แล้วล่ะครับ
-------------------
กลับมาที่ประเด็นการสร้างกระเช้าบนภูกระดึง
ถ้าได้อ่านที่ผมเขียนมาทั้งหมด คุณผู้อ่านก็คงรู้แล้วว่า ผมจะสรุปว่าอย่างไร
สรุปก็คือ ไม่ควรสร้างครับ นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงปัญหาการจัดการขยะจำนวนมากที่จะตามมาอีก หากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นไป
ถามว่า ระบบจัดการขยะในประเทศไทยพร้อมแค่ไหน และบนภูกระดึงพร้อมแค่ไหน
หรืออย่างเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่จะใช้กับกระเช้า ในขณะที่ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้ายังถูกต่อต้านจากคนไทยในหลาย ๆ พื้นที่ แล้วภูกระดึงล่ะจะใช้พลังงานอะไรใช้กับกระเช้า หรือจะปั่นไฟเองด้วยน้ำมัน ? ไม่กลัวก่อมลพิษทางอากาศหรือ ?
ยังมีปัญหาตามมาให้แก้อีกเพียบแน่นอน แล้วมันคุ้มเหรอที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของภูกระดึง
คนไทยมักชอบคิดแง่เดียวคือ ต้องการรายได้มากขึ้นซึ่งก็เข้ากระเป๋าคนไม่กี่คนหรอก แต่สิ่งที่จะตามมาผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม เคยคิดไหมว่า ใครต้องจ่ายต้นทุนในส่วนนี้ ? เหมือนที่สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในหลาย ๆ แห่ง
ผมจึงอยากขอให้คนที่ไม่แข็งแรง หรือคนแก่ ก็ควรทำใจเสียสละว่า เราอย่าไปเที่ยวในที่ ๆ เราไปด้วยขาของตัวเองไม่ได้เลยครับ
แล้วให้ทำใจว่า ความงามธรรมชาติจะคงอยู่ได้นานที่สุด ถ้ามีมนุษย์ไปถึงน้อยที่สุด นี่แหละคือความคิดที่คุณควรจะคิดครับ
การที่ขึ้นไปยอดภูกระดึงมีเพียงวิธีเดินขึ้นไปเท่านั้น ก็ถือเป็นการคัดกรองและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่ง
คุณผู้อ่านลองคิดดูว่า ถ้ามีกระเช้าขึ้นไปง่าย ๆ ต่อมานอกจากจะมีนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นแล้ว ก็คงต้องมีนักท่องเที่ยวจีนอีกมากมายที่อยากจะแห่ขึ้นไปเที่ยวเช่นกัน
ลองนึกสภาพดูแล้วกัน คุณเคยเห็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยั้วเยี้ยและเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจีนเดินกันจนเบียดเสียดสิ ขนาดวัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างเอง ยังรับสภาพแทบไม่ไหว
แล้วสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ถ้าเจอปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ๆ ธรรมชาติเขาอาจรองรับไม่ไหว แล้วธรรมชาติอาจฟื้นตัวเองไม่ทัน
มนต์เสน่ห์ของภูกระดึง ก็คือการเดินขึ้นไปอย่างลำบากและถือเป็นตำนานที่ท้าทายและน่าจดจำ
หากสร้างกระเช้าให้ขึ้นไปง่าย ๆ มนต์เสน่ห์ที่เป็นตำนานเล่าขานของภูกระดึงก็คงหมดไป
เลิกซะทีเถอะ ไอ้เรื่องค่านิยมแดกด่วน เที่ยวด่วนเนี่ย
--------------
พอผมโพสบทความนี้ออกไปได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็บังเอิญ อ.ศศิน ก็ได้มาออกรายการทางไทยพีบีเอส
ลองฟังความเห็นของ อ.ศศิน ในรายการคิดยกกำลัง 2 เมื่อคืนวันที่ 3 มีนาคม 2559 กันดูครับ
---------------------
แต่ถ้ายังฟังเหตุผลของอาจารย์ศศิน ยังไม่เข้าใจ
ขอแนะนำลองดูคลิปรายการ ช่วยคิดช่วยทำ ที่ได้เชิญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนิด้า มาให้ความเห็นเรื่องกระเช้าขึ้นภูกระดึง ครับ
คลิกอ่าน ไทยควรขุดคอคอดกระหรือไม่
ยื่นนายกฯ มติมหาชน 97% เร่งสร้างกระเช้าภูกระดึง ค่าโดยสาร 500 บ ถูกกว่าจ้างลูกหาบ 4,000 บาท แถมยังมีแค่ 330 คนใกล้สูญพันธุ์แล้ว เพราะลูกหลานมีการศึกษาไม่ทำงานหนักแบบนี้ บางคนแบกจนเสียชีวิตก็มี นักท่องเที่ยวตายทุกปี ถ้ามีกระเช้ายังช่วยทัน กระเช้าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่กลับทำให้ดีขึ้นเพราะแทบไม่ถูกเหยียบย่ำธรรมชาติอันสวยงาม bit.ly/1povC3l
ตอบลบถ้าไม่มีลูกหาบก็ไม่ต้องขนสัมภาระมากมายขึ้นไป ไปแต่ตัวและสัมภาระที่ตัวเอาไปได้ไง เก็บธรรมชาติไว้ ถ้า คนไทย ยังมีวินัย และปฎิบัติตาม กม.ไม่มากพอ
ตอบลบ