วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ถ้าคณะราษฎรเลว ก็อย่าด่าปรีดี คนเดียว




ผมอาจกล้าพูดได้เลยว่า ผมเป็นคนแรก ๆ ที่ประณามคณะราษฎรว่า กระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบ คณะราษฎรไม่ได้ทำประชามติถามประชาชนคนไทยในยุคนั้นว่า ต้องการระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ โดยผมเขียนเป็นบทความที่ชื่อว่า ฤา ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับคนไทย

เท่ากับคณะราษฎรก่อการฝืนใจประชาชนไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้นหรือไม่ ?

เพราะก่อนหน้านั้นตั้งแต่ผมยังเด็ก เรียนหนังสือมา ก็มีแต่ยกย่องคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น ยังไม่เคยเห็นใครตำหนิคณะราษฎรเลย

คณะราษฎร หรือ กลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

การที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงระบอบด้วยปืน แน่นอนว่า เมื่อประชาธิปไตยไทยถือกำเนิดเกิดจากปืน มันจึงเป็นการกำเนิดที่ไม่สมบูรณ์ เพราะช่วงที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ตอนนั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ?




และเมื่อเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยแล้ว การศึกษาไทยก็ไม่สอนให้คนไทยรู้จักว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีคุณธรรม ประชาชนต้องรู้จักการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีก่อนที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง

เพราะหากคนเรานั้นไม่ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แล้ว ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะได้สิทธิเสรีภาพที่สมบูรณ์นั้น ๆ ด้วย

เช่น ถ้าคนที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งถือว่า ไม่ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ก็ย่อมถูกจับและอาจถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เคยพึงมี จริงหรือไม่ ?

คนไทยทุกวันนี้เอาแต่เรียกร้องสิทธิ แต่ไม่รู้จักการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีกันเลย ดังที่เห็นคนไทยทำผิดกฎหมายมากมายทุกประเภท อย่างเช่นเรื่องง่าย ๆ คือ กฎจราจร คนไทยละเมิดมากที่สุด

--------------------------------

คณะราษฎร์ ไม่ได้มีแค่นายปรีดี !!

หัวหน้าคณะราษฎร

พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย
พ.อ. พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

ส่วนคณะราษฎร มีทั้งหมด 115 คน ผมคงไม่ยกมาให้ดูทั้งหมด แต่ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น


คณะราษฎร สายทหารบก ก็มีเช่น พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) หรือจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย ผู้เปลี่ยนแปลงชื่อสยาม ให้เป็นประเทศไทย และเป็นผู้พาไทยร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2



คณะราษฎร สายทหารเรือ

ก็เช่น น.ต. หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2481 หรือที่มาสนามศุภชลาศัย

หรือเช่น ร.อ. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย เป็นทหารเรือคนแรกและคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย และยังเป็นปู่ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วย


คณะราษฎรสายพลเรือน

เช่น อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน หัวหน้าขบวนการเสรีไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 8 ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นเจ้าของชื่อถนนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

เช่น รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของไทย และเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ !!

เช่น นายทวี บุญยเกตุ เสรีไทย และนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนที่ 2

เช่น ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี หรือพลโทประยูร ภมรมนตรี อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงแรมเอราวัณ และเป็นพ่อของนายยุรนันท์ ภมรมนตรี

-------------------

ปรีดี แตกต่างจากทักษิณ อย่างไร

คือช่วงนี้เป็นช่วงที่พวกล้มเจ้ามีกำลังมากขึ้น เพราะคนโง่ในประเทศไทยมีมากขึ้น ด้วยเหตุที่พวกล้มเจ้าในระดับแกนนำจะไปเกาะกระแสนายปรีดี ส่วนพวกเสื้อแดงที่เอียงไปทางพวกล้มเจ้าก็กระแสนายปรีดี เช่นเดียวกัน

เพราะพวกชั่วมันพยายามนำนักโทษทักษิณ ไปเทียบเคียงกับนายปรีดี เพราะต้องมีเหตุให้ออกจากประเทศไทยทั้งคู่

แต่พวกชั่วมันเปรียบเทียบผิดมาก เพราะนายปรีดีถูกภัยทางการเมือง จึงลี้ภัยไปต่างประเทศ และข้อกล่าวหาหมิ่นประมาททุกอย่างที่เคยใส่ร้ายนายปรีดี นายปรีดีก็ชนะหมดทุกคดี

เมื่อออกจากประเทศไทยไปแล้ว นายปรีดีไม่เคยให้ร้ายบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเลย นายปรีดี ไม่เคยพูดจายุยงให้คนไทยเกิดความแตกแยก นายปรีดีไม่เคยมีข้อหาฉ้อโกงหรือผลประโยชน์ทับซ้อน

ในขณะที่ทักษิณทำความผิดด้วยตัวเองชัดเจน จนต้องหนีคุก แต่ยังพยายามให้ร้ายบ้านเมือง ยุยงคนไทยให้แตกแยกมาจนวันนี้

------------------

อย่าโทษนายปรีดี คนเดียว

ก็อย่างที่ผมบอก ตอนนี้มีคนที่ต่อต้านพวกล้มเจ้า มุ่งโจมตีไปที่นายปรีดีเพียงคนเดียว เพราะตอนนี้พวกล้มเจ้าเกาะกระแสนายปรีดี

ทั้ง ๆ ที่คณะราษฎร มีตั้ง 115 คน รวมทั้งนายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

เพียงแต่ว่านายปรีดี เคยเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 และเคยเป็นนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เขามีศัตรูทางการเมืองมากที่สุด

นายปรีดี จัดเป็นฝ่ายบุ๋นในคณะราษฎร หรือคือ ฝ่ายวิชาการผู้วางรากฐานระบอบประชาธิปไตย (ที่ล้มเหลว) ในไทย

เพราะหากคณะราษฎรไม่มีสายทหาร ลำพังนายปรีดี ย่อมไม่มีทางเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยได้หรอก เพราะนายปรีดีไม่มีปืน 

เพราะความรุนแรงในคณะราษฎร มาจากกระบอกปืน 

แล้วผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นก็คือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย  พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)


ผมขอสรุปบทความนี้ไว้ว่า หากคณะราษฎรเลว มันก็ต้องเลวทั้งคณะ ไม่ใช่โทษใครคนใดคนหนึ่ง นี่คือหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

แต่ที่แน่ ๆ ที่ไทยเราไม่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะจอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีนำพาประเทศไทยไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น นั้น

นายปรีดี พนมยงค์ คนนี้นี่แหละ ที่เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และเป็นผู้สำเร็จราชการใน ร. 8 ได้เป็นผู้ช่วยให้ไทยรอดพ้นความพ่ายแพ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุเพราะนายปรีดีไม่ยอมลงนามแทนพระองค์เพื่อยอมให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ตามที่ จอมพล ป. พยายามบีบบังคับมาตลอด

ต่อมาจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ให้เป็น "โมฆะ" ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสันติภาพไทย"

-----------------------

รัชกาลที่ 8 ทรงแต่งตั้งปรีดี เป็นรัฐบุรุษอาวุโส


นายปรีดี เริ่มเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชาลกที่ 8 แล้วยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากภาวะชาติผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ช่วงนี้เรียกได้ว่า คะแนนนิยมของนายปรีดี เริ่มพุ่งสูงสุด ในขณะที่จอมพล ป. ตกลงสุดขีด

แต่หากคุณผู้อ่านไปอ่านประวัติจอมพล ป. ก็จะรู้ว่า จอมพล ป. ก็มีเหตุผลพอสมควรที่ยินยอมนำไทยร่วมกับญี่ปุ่นหลายประการ เช่น ให้ไทยไม่ถูกญี่ปุ่นบุกด้วยกำลังยึดครอง และหวังให้ญี่ปุ่นทวงดินแดนที่ไทยเสียให้ฝรั่งเศสไปกลับคืนมาเป็นต้น

ฉะนั้น เรื่องการเมืองและสงครามเป็นเสมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ เพราะการที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2  ก็ทำให้ไทยกับญี่ปุ่นยังมีสัมพันธไมตรีอันดีตราบมาจนปัจจุบันเช่นกัน  สำหรับผม ผมจึงไม่โทษจอมพล ป. ในกรณีไทยร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับญี่ปุ่น ครับ


จอมพล ป. เข้าเฝ้าฯ ภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ลับมาที่นายปรีดี คุณคิดว่า รัฐบุรุษคนแรกของไทยจะเป็นคนเลวเหรอ ?

แต่ผมไม่เชื่อ เพราะแม้กระทั่งองค์การยูเนสโกก็ยังยกย่องให้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยมีรัฐบาลชวน หลีกภัย ให้การรับรองสนับสนุน

หากนายปรีดี ไม่ใช่คนดี ก็ควรลบออกจากทำเนียบรัฐบุรุษอาวุโสของไทยเลยสิครับ จริงไหม

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เคยพูดว่า “ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้เป็นบุคคลที่สนใจธรรมะจึงเอาธรรมะขึ้นหน้าแล้วเอาการเมืองไว้ข้างหลังแสดงว่าคนจะเป็นนักการเมืองต้องมีคุณธรรม...”

ที่สำคัญ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างมาก ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรที่ธรรมศาสตร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี เฉกเช่นมหาวิทยาลัยสำคัญ ๆ หลายแห่ง

คุณผู้อ่านลองนึกดู ทั้ง ๆ ที่ นายปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองไปตลอดชีวิต ไม่ใช่ผู้ชนะที่เขียนประวัติศาสตร์เอง แต่รัฐบาลไทยในยุคต่อ ๆ มา ก็ยังยกย่องนายปรีดี

คุณผู้อ่านควรจะเชื่อรัฐบาลไทย หรือจะเชื่อเพจบนเฟสบุ๊คที่เขียนโจมตีนายปรีดี ก็พิจารณาเองแล้วกัน

-------------------

ยุคสมัยนั้นการเมืองไทยสกปรกมาก กล่าวหากันมากมาย

นายปรีดี ทั้ง ๆ ที่เป็นนักประชาธิปไตยแท้ ๆ ก็ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้เลย หรือแม้แต่ที่มีคนไปร้องตะโกนกล่าวหาปรีดีในโรงหนัง

หลายคนเชื่อว่าเป็นฝีมือพรรคประชาธิปัตย์ ? (แต่คุณแน่ใจหรือว่าฝีมือพรรคประชาธิปปัตย์ ?)

หรืออาจเป็นแผนเสี้ยมของใครกันแน่ที่หวังเสี้ยมให้ทั้งสองฝ่ายแตกคอกัน

แม้กระทั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เจ้าอาวาสวันมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผู้นำหลักวิปัสนากรรมฐานยุบหนอ พองหนอ จากพม่ามาเผยแพร่ในไทยคนแรก  พระผู้ที่มีความสนิทสนมกับนายปรีดี ท่านก็ยังเคยโดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เลย จนต้องถูกบังคับให้สึก เพราะต้องไปติดคุกอยู่หลายปี แต่ท่านก็พ้นข้อกล่าวหาได้ในที่สุด และได้กลับมาเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนกระทั่งมรณภาพ


ผมว่า คนไทยบางจำพวก แค่ต้องการดิสเครดิตพวกล้มเจ้า (เพราะพวกล้มเจ้าไปเกาะกระแสยึดนายปรีดีเป็นฝ่ายตน) จนต้องถึงกับกุเรื่องใส่ไข่เพื่อทำลายคนที่ตายไปแล้วอย่างนายปรีดี ผมว่า มันไม่ยุติธรรม เพราะนายปรีดีไม่มีโอกาสแก้ต่างให้กับตัวเองได้เลย

แน่นอน นายปรีดี ไม่ใช่คนที่ทำถูกต้องหมดทุกอย่าง นายปรีดีก็มีเรื่องทำผิดพลาด อย่างเช่นที่ผิดพลาดที่สุด ริเริ่มคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเร็วเกินไป

แต่ผมมั่นใจว่า เขาไม่ใช่คนเลวอย่างที่พวกต่อต้านฝ่ายล้มเจ้า พยายามแต่งเรื่องใส่ร้ายนายปรีดี แน่นอน

"...ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ 

ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต หรือในครั้งโบราณกาลเรียกว่าการปกครองโดยสามัคคีธรรม การใช้สิทธิโดยไม่มีขอบเขตภายใต้กฎหมายหรือศีลธรรม หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ใช่หลักของประชาธิปไตย..." - นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวแสดงในสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม 2489

--------------------

สุดท้าย ผมแนะนำว่า เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปโกรธแค้นชิงชังใครในอดีตอีก แต่เราให้เรียนรู้ไว้เพื่อเป็นบทเรียน

เพราะไม่มีใครจะสมบูรณ์แบบไม่เคยกระทำผิดเลยสักอย่าง ทุกคนล้วนแต่ต้องฟันฝ่ามรสุมอย่างโชกโชนทั้งสิ้น เมื่อเราไม่ได้เป็นเขา เราเกิดไม่ทันในยุคนั้น เราจึงไม่มีทางรู้ตื้นลึกหนาบางกับบริบทอะไร ๆ ต่าง ๆ ในยุคนั้นเท่าไหร่นักหรอก

เมื่อเราไม่ได้เกิดทันในยุคนั้น ก็แค่เรียนรู้แบบฟังหูไว้หูจะดีกว่า ที่เราเรียนประวัติศาสตร์ก็เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดในประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยอีก

โดยความเห็นส่วนตัวของผม ผมเชื่อว่า คณะราษฎรส่วนใหญ่เลว แต่เวลาจะกระทำการอะไร มันก็มีการลงมติในหมู่คณะราษฎร

ปรีดี ไปขวางผลประโยชน์พวกคณะราษฎรเลวๆ หลายอย่าง เลยปล่อยปรีดีไว้ไม่ได้ นี่คือเหตุผลนึง ที่ปรีดีโดนเล่นงานหนักสุด

--------------------

วาระสุดท้ายของนายปรีดี

บั้นปลายชีวิตของนายปรีดี ก็ได้เสียชีวิตอย่างสงบ โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ มาก่อน ในบ้านพักที่ฝรั่งเศส แบบที่เขาเรียกว่า ตายอย่างคนมีบุญครับ

"เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส นายปรีดีสิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวาย ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน"

สิริอายุ 82 ปี

---------------------
แถมความเห็นบุคคลสำคัญ ต่อนายปรีดี พยนมยงค์

"ข้าพเจ้าเชื่อว่าชีวิตของคนทุกคนย่อมจะต้องเป็นไปตามแนวแห่งกรรมประจำตัว จะไม่มีผู้ใดที่จะเลี่ยงพ้นจากกรรมได้ ดังนี้ดวงของท่าน (ปรีดี) ที่ได้พุ่งขึ้นสูงส่งอย่างน่าประหลาด คือท่านเป็นศาสตราจารย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นรัฐมนตรีมาแทบทุกยุคทุกสมัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และยังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นผู้สามารถธำรงเกียรติศักดิ์ของชาติไทยไว้ได้ ครั้นแล้วชะตาชีวิตของท่านอาจารย์ปรีดีก็พลันกลับทำให้ท่านต้องตกต่ำลงมาจนถึงขั้นต่ำสุด ตลอดจนชะตาของท่านอาจารย์ปรีดีก็โหดร้ายต่อตัวท่าน ต่อลูกเมียท่านนานาประการ ถึงขนาดที่เกือบจะต้องตกเป็นคนไทยที่ไม่มีสิทธิ์ในแผ่นดินไทยซึ่งเป็นบ้านเมืองที่รักของท่าน
ข้าพเจ้าเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ชะตาหรือดวงของคนคนหนึ่งนั้นอาจจะไปสัมพันธ์กับชะตาชีวิตของคน อีกหลายสิบล้านแม้แต่ดวงของประเทศ และถ้าพิจารณากันให้ละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ดวงของท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเช่นนั้น เพราะว่าชะตาหรือดวงของท่านนั้น มิใช่จะทำให้แต่ตัวท่าน ต้องตกระกำลำบาก และเป็นผู้ที่สูญเสียแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังทำให้คนไทยอีกหลายสิบล้านคน ที่ต้องพลอยถูกกระทบกระเทือนและสูญเสียไปด้วย... และต้องเสียไปอย่างที่จะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีกแล้ว" พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล



"ตามที่ผมไปเห็นในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีมาแล้วในคราวนี้ ผมกล้าบอกได้อย่างแน่นอนว่าท่านมิได้เชื่อว่าคุณหลวงฯ (ปรีดี) เป็นผู้ฆ่าในหลวงดังที่เขาลือกันเลย พูดตามจริงแล้วบรรดาสิ่งต่างๆ ที่ผมเคยคุยกับสมเด็จพระราชชนนีไว้ที่กรุงเทพฯ ในเรื่องที่เกี่ยวกับพวก Royalists ว่าวิธีการปฏิบัติของเขามิได้แสดงเลยว่าเขาเป็น Royalist กล่าวคือถ้าเขาเป็น Royalists จริงแล้ว เขาย่อมจะต้องไม่เอาพระนามในหลวงไปใช้เป็นประโยชน์ของเขาในทางการเมือง ดังที่ปรากฏมาแล้วอันล้วนแต่เป็นการเสื่อมเสียต่อในหลวงทั้งสิ้น" หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 7


"ถ้าคิดว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จะมองไม่เห็นความดีของอาจารย์ปรีดี ซึ่งมีเป็นอเนกประการ ถ้ารู้ความจริงว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้พยายามพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์" ศ.นพ. ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส


"ในความรู้สึกของอาตมา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา ในการปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้ทันสมัย ท่านพอใจในกิจการของสวนโมกข์ จนถึงกับได้ขอร้องให้อาตมามาแสวงหาที่เพื่อจะจัดสวนโมกข์ขึ้นในจังหวัดอยุธยา...สำหรับอาตมาได้รับคำขอร้องจากท่านผู้นี้ให้ทำทุกอย่างเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทันสมัย อาตมาก็ได้สนองความประสงค์อันนี้ พยายามทำหนังสือหนังหาทุกแง่ทุกมุมที่จะสนองความประสงค์อันนั้นเท่าที่เห็น ๆ กันอยู่แล้วในบัดนี้" ท่านพุทธทาสภิกขุ


"โดยกาลเวลาแห่งยุคสมัย นายปรีดี พนมยงค์ นับว่าห่างไกลจากอาตมาภาพ เนื่องจากท่านเป็นคนรุ่นก่อนบิดามารดาเล็กน้อย จะว่าโดยวิถีชีวิต ท่านก็ห่างไกลกับอาตมภาพในแง่ที่ว่า ท่านอยู่ในวงการเมือง แต่อาตมภาพเป็นพระภิกษุอยู่ทางด้านพระศาสนา แต่แม้ห่างไกลอย่างนั้น ก็มีจุดที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับอาตมภาพมาบรรจบกัน จุดนั้นก็คือ “ธรรม” พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)


คลิกที่รูปด้านล่างเพื่ออ่านเรื่องมหาราชและรัตนโกสินทร์ เขียนโดยนายปรีดี พนมยงค์


**แก้คำผิดไม่ใช่มหาราชา แต่เป็นมหาราช ครับ

คลิกอ่าน ไม่ธรรมดา กว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดลจะได้ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 8



ผู้ติดตาม