ปัจจุบันในขณะที่ผมเขียนบทความนี้นับว่า ยังเป็นยุคเสื่อมถอยของวงการมวยสากลอาชีพของไทย เสื่อมถอยขนาดที่ว่า ณ เวลานี้นักมวยแชมป์โลกของไทยในระดับสถาบันหลักเช่น WBA WBC และ IBF เอาแค่ 3 สถาบันหลักนี้ก็พอ ว่า ณ เวลานี้ตอนนี้เรามีแชมป์โลกชาวไทยที่ยังครองเข็มชัดแชมป์เปี้ยนโลกอยู่กี่คน ?
มีใครพอจำได้บ้าง ?
ผมมานึก ๆ ย้อนดูว่า มวยสากลอาชีพระดับโลกของไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ผมพอจะนึกได้ว่า ก็ตั้งแต่มีแชมป์ PABA หรือแชมป์อะไรต่อมิอะไรมั่วซั่วเกิดขึ้นมานั่นแหละครับ น่าจะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี่แหละ
คือ ยุคแรก ๆ ตั้งแต่มีแชมป์แยกย่อยระดับภูมิภาคพวก PABA แบบนี้ขึ้นมาหลายต่อหลายแชมป์ พวกนักพากย์มวยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ก็มักจะชอบเรียกว่า แชมป์โลกพาบ้า แล้วก็มีแชมป์โลกกระจอก ๆ ที่ไม่ใช่แชมป์โลกจริง ๆ ของสถาบันหลักอีกมากมายเกิดขึ้นมาจนคนดูมวยจำไม่หวัดไม่ไหว คือนักพากย์ชอบพากย์เหมาเรียกแชมป์โลกไปหมด
มีการถ่ายทอดสดชิงแชมป์โลกและป้องกันแชมป์กระจอก ๆ ที่ไม่ใช่แชมป์โลกของจริงแบบนี้บ่อยมากทางทีวี จนผู้ดูมวยทั่วไปเริ่มเห็นความเกร่อและความกระจอก จนเริ่มไม่อยากสนใจชมมวยถ่ายทอดสดทางทีวีตอนบ่าย ๆ พวกนี้สักเท่าไหร่นัก
เพราะความที่มีแชมป์โลกกระจอก ๆ จนเกร่อ ถ่ายทอดสดทางทีวีแทบทุกสัปดาห์นี่แหละ คือ ยุคเริ่มต้นความเสื่อมของวงการมวยอาชีพบ้านเรา
เพราะคนดูเริ่มงง ว่า ตกลงแชมป์ไหนเป็นแชมป์โลกของจริงกันแน่ ซึ่งพอผ่านมาสักกว่า 10 ปี คนพากย์มวยทีวีเพิ่งจะรู้ตัวว่า ถ้าเรียกแชมป์โลกไปซะหมด ก็จะยิ่งทำให้คนดูเบื่อหน่าย ไม่เห็นความสำคัญของคำว่า แชมป์เปี้ยนโลก อีก
ตอนหลังคนพากย์มวยก็เลยกลับมาเรียกว่า แชมป์พาบ้า เฉย ๆ ตัดคำว่า โลก ออกไป
---------------------
ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญแค่ 2 สถาบันหลักเท่านั้น
คือถ้าผมจำไม่ผิดนะ วงการมวยญี่ปุ่น เขาจะเน้นให้นักมวยของเขาชิงแชมป์เปี้ยนโลกจากสถาบันหลักคือ WBA หรือ WBC เท่านั้น เพราะนี่คือ 2 สถาบันมวยโลกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ซึ่งถ้าเมื่อสัก 30 ปีก่อน ญี่ปุ่นจะเน้นแค่สถาบันหลักเดียวด้วยซ้ำ คือให้ความสำคัญแค่สถาบัน WBA เท่านั้น เพราะคือสถาบันมวยโลกแรกของโลก
ปัจจุบันนี้ ผมไม่แน่ใจว่า แชมป์มวยสากลอาชีพโลกของญี่ปุ่นมีกี่สถาบันแล้ว แต่เท่าที่เห็น ๆ ญี่ปุ่นเขาเน้นที่แชมป์โลก WBA และ WBC เป็นหลัก
ในขณะที่วงการมวยสากลอาชีพไทย กลับไปนำแชมป์พาบ้า เข้ามาทำลายวงการมวยอาชีพของไทยเอง เพราะนักชกไทยก็วนชกอยู่แค่นักชกจากฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย เป็นหลัก ๆ จนเหมือนวนเวียนฝึกฝีมือในกะลาอาเซียนแท้ ๆ พอเจอนักชกของจริงจากทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้ทีไร นักมวยไทยเรามักจอดพ่ายน็อคเอาง่าย ๆ เสมอ ๆ
อันนี้คือความเห็นส่วนตัวของผมนะ ที่คิดว่า มัวแต่พาบ้า เลยพาห่วยลง
---------------------
สิ่งที่ห่วยและขาดไปในนักมวยสากลอาชีพไทยในยุคนี้
ผมเห็นการชิงแชมป์โลกสถาบันหลักของนักชกไทยในยุคหลัง ๆ หากนักมวยไม่ได้มาจากมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน สิ่งที่ขาดหายไปของนักมวยสากลอาชีพไทยก็คือ หมัดแย็บนำ หรือที่เรียกว่า หมัดหน้า
โดยเฉพาะเวลานักชกไทยไปชิงแชมป์โลกหรือป้องกันแชมป์โลกกับนักชกญี่ปุ่น
สิ่งที่เราเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนก็คือ นักชกญี่ปุ่นจะฟุตเวิร์คได้ดี และมีหมัดหน้าหรือหมัดแย็บนำตลอด ซึ่งสามารถทำลายจังหวะ และเก็บคะแนนได้มาก แถมบางครั้งสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้นักมวยไทยได้มากทีเดียว
ในขณะที่นักมวยสากลอาชีพไทยก็เอาแต่เดินดุ่ม ๆ หมายจะเข้าไปต่อยลำตัวนักมวยญี่ปุ่น เพื่อหวังจะน็อคนักชกญี่ปุ่น เพราะนักชกไทยมีฐานความคิดเก่า ๆ เดิม ๆ ว่า นักชกญี่ปุ่นจะท้องและลำตัวไม่แข็ง หากเจอต่อยลำตัวจัง ๆ หรือถูกต่อยสะสมที่ลำตัวมาก ๆ เข้า นักชกญี่ปุ่นก็จะพ่ายแพ้ให้เราในที่สุด
ทุกวันนี้เราจึงเห็นนักชกไทยทำตัวเหมือนควาย เอ้ย วัวกระทิง ที่เดินดุ่ม ๆ เข้าไปชกนักชกญี่ปุ่นแบบโง่ ๆ สุดท้ายก็น็อคเขาไม่ได้ ไล่เขาไม่จน เพราะนักชกญี่ปุ่นเขาปิดความบกพร่องเรื่องความอ่อนของหน้าท้องลงไปหมดแล้ว หายากที่นักชกญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้เพราะถูกชกท้อง
นักมวยสากลอาชีพญี่ปุ่นเขาพัฒนาไปไกลแล้ว มีแชมป์โลกสถาบันหลักหลายคน ในขณะที่วงการมวยไทยยังย่ำอยู่กับความคิดเดิม ๆ สไตล์การชกแบบโง่ ๆ ดุ่ม ๆ ต่อยท้องอย่างเดียวต่อไป
ดังนั้น หากนักชกไทยยังไม่เน้นมีหมัดนำ เหมือนโผน กิ่งเพชร สด จิตรลดา และอดีตแชมป์โลกคนอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มักเน้นฟุตเวิร์คคล่องแคล่ว หมัดแย็บสวยงาม
วงการมวยสากลอาชีพของไทยก็ถอยหลังลงคลองต่อไป คือ เดิมดุ่ม ๆ เข้าไปหาให้ฝ่ายตรงข้ามชกหมัดหน้าทำคะแนนไป
----------------
นักมวยสากลอาชีพไทยไม่มีก๊อกสอง ก๊อกสาม
เรามักจะเห็นนักชกไทยเวลาไปชิงแชมป์โลก หรือ ป้องกันแชมป์โลก ก็ตาม หากมีจังหวะที่ชกจนนักชกคู่ต่อสู้มีอาการเป๋หรือแสดงอาการอ่อนแอมึนหมัดให้เห็น
ผู้ชมก็เฮดีใจ แล้วก็ต่างลุ้นให้นักมวยไทยเข้าไปขยี้รัวหมัดเอาให้คู่ต่อสู้แพ้น็อคให้ได้เร็วที่สุด
แต่จนแล้วจนรอด นักชกไทยส่วนใหญ่ก็มักไม่มีปัญญาเอาชนะน็อคคู่ต่อสู้ได้เลย เมื่อโอกาสดี ๆ มาเยือนแล้ว
แบบที่เรียกว่า พลาดวินาทีทอง !!
ส่วนผู้ชมชาวไทยก็พลอยเสียอารมณ์ไปตาม ๆ กัน พร้อมกับคำสบถว่า "แม่งโคตรโง่เล้ย"
ซึ่งต่างจากนักชกญี่ปุ่น หรือนักมวยสากลอาชีพต่างชาติอื่น ๆ ที่แม้ดูจะมีสภาพอ่อนระโหยโรยแรงแทบจะหมดแรงไปแล้ว แต่เมื่อเขาเห็นคู่ต่อสู้ออกอาการมึนหมัดให้เห็น นักชกต่างชาติก็มักจะมีก๊อคที่ 2 ที่ 3 เหมือนมีแรงมีพลังขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เปรียบเสมือนฉลามได้กลิ่นกลิ่นคาวเลือด สามารถบุกตะลุยรัวหมัดจนนักชก(ไทย) อีกฝ่ายแพ้น็อคได้ในพริบตา โดยเฉพาะในนักมวยชาวอเมริกันจะมีให้เห็นมาก ที่เป็นตำนานก็คือ ชูกาเรย์ เรียวนาร์ด
ซึ่งในการชกระหว่างเรียวนาร์ด กับ โธมัส เฮิร์น
เรียวนาร์ด โดยเฮิร์นชกทำคะแนนนำขาดมาทุกยก จนเรียวนาร์ดมีสภาพอ่อนล้าจนจะไปแหล่มิไปแหล่แล้ว บอบช้ำที่สุดในชีวิตการชกของเรียวนาร์ด
แต่เมื่อเฮิร์น พลาดท่าโดนหมัดของเรียวนาร์ดจนออกอาการเป๋
เรียวนาร์ด ที่สภาพก็ย่ำแย่แล้ว ก็กลับเสมือนมีก๊อก 2-3 เกิดแรงฮึดขึ้นมาใหม่ตามรัวหมัด ไล่ถลุงเฮิร์น ถึง 2 ยก.ในยกที่ 13 และ 14 จนสามารถเอาชนะเทคนิเคิลน็อคเอ้าท์ได้ในที่สุด
นักชกไทยที่ผมจำได้ว่า มีก๊อก 2 ก็อก 3 ที่สามารถรัวหมัดเอาชนะน็อคคู่ต่อสู้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ก็คือ เขาทราย แกแลคซี่ แชมป์โลก WBA ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของโลกและของไทย
ซึ่งในช่วงที่เขาทราย ได้เป็นแชมป์โลกใหม่ ๆ ก็ไม่ค่อยมีหมัดหน้านำ ชอบเดินดุ่ย ๆ เข้าไปชกท้องคู่ต่อสู้ จนตัวเองก็เจ็บตัวไม่น้อย จนถูกแฟนมวยชาวไทยประชดว่า เขาควาย !!
แต่ต่อมา เขาทรายก็พัฒนาฝีมือ ปิดข้อบกพร้องของตัวเองได้จนหมด คือ มีหมัดหน้านำ แถมการไล่ต้อนคู่ชกก็ทำได้อย่างเหนือชั้น จนได้รับการยกย่องว่า เขาทราย แกแลคซี่ คือนักมวยที่ต่อยลำตัวคู่ต่อสู้ได้เก่งที่สุดในโลก
ถึงจะอ้างว่านักชกไทยเป็นมวยบุก มวยไฟต์เตอร์ ก็ต้องมีหมัดหน้านำทาง เช่น ใช้หมัดหน้าชกให้คู่ต่อสู้เปิดการ์ด หรือใช้หมัดหน้าชกให้คู่ต่อสู้รำคาญและกังวล เป็นต้น ไม่ใช่เอาแต่เดินดุ่ย ๆ เดินเข้าไปหาคู่ชกแบบซื่อบื้อ
แต่นั่นคือ เขาทราย ผู้มีพลังกำปั้นซ้ายที่หนักที่สุดในโลกหนักกว่าใครในรุ่นเดียวกัน
ถ้านักมวยสากลอาชีพชาวไทยคนไหน หมัดไม่หนักพอ ๆ กับเขาทราย ก็อย่าสะเออะเดินหน้าดุ่ม ๆ แบบโง่ ๆ ไร้หมัดหน้านำเลยครับ เพราะโอกาสชนะมีแต่ฟลุ้คเท่านั้น
------------------------
สรุป สิ่งที่นักมวยสากลอาชีพไทยควรแก้ไข
1. การฟุตเวิร์คที่หายไป
2. หมัดแยบ หมัดหน้าไม่ค่อยมี
3. พลังแฝงไม่มี ขาดก๊อก 2 ก๊อก 3 เหตุเพราะไม่ฝึกหมัดรัวยามหมดแรงบ่อย ๆ
4. อย่าวนต่อยอยู่แค่นักมวยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพราะนักชกพวกนี้บางคนเขามาแค่หวังเงินเท่านั้น จึงมักไม่ต่อยเอาจริง เอาแค่พอเจ็บหน่อยก็รีบแพ้น็อคเอาเงินกลับบ้านเขาแล้ว ส่วนนักชกไทยก็หลงดีใจกับความสำเร็จจอมปลอม
----------------
ตัวอย่างชัดเจนกับความหลงผิดสไตล์เดิม ๆ นั่นคือ กรณี นวพล นครหลวงโปรโมชั่น
ถึงขนาดช่อง 3 ทำสกู๊ปการฝึกซ้อมของนวพลนานร่วมเดือน โปรโมทว่า จะชิงแชมป์ของโผน กิ่งเพชร คืนกลับสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง เพราะแชมป์โลกรุ่นนี้ห่างหายไปจากแผ่นดินไทยกว่า 5 ปีแล้ว
สถิติของนวพลสวยหรู ไม่เคยแพ้ใคร แถมชนะน็อคเพียบ (น็อคพวกปินส์กับพวกอิเหนาเป็นส่วนใหญ่) สถิตินวพล ชนะ 33 ครั้งรวด ชนะน็อค 28 ครั้ง
แต่พอนวพล นครหลวงโปรโมชั่น รองแชมป์โลกอันดับ 1 ขึ้นชิงแชมป์เปี้ยนโลกที่ว่างลงของสภา่มวยโลก WBC รุ่นฟลายเวต 112 ปอนด์ กับ ฮวน เฮอร์นันเดซ รองแชมป์โลกอันดับ 2 ชาวเม็กซิกัน
นวพล ก็พ่ายหมดรูป แพ้เทคนิเคิลน็อคเอ้าท์ไปในยกที่ 3 พ่ายแบบที่นักชกไทยหลายต่อหลายคนมักพ่ายมาคือ ชอบเดินดุ่ม ๆ เข้าไปหาคู่ต่อสู้แบบโง่ ๆ แล้วไม่มีหมัดนำเลย คือ หวังจะน็อคเขา แต่กลายเป็นแพ้น็อคเสียเอง
สมควรแล้วกับบทเรียนของนักชกไทยคราวนี้ ซึ่งหวังว่า นักมวยสากลอาชีพไทยคนอื่น ๆ ควรจะศึกษากรณีนวพล และนักชกไทยที่ไปพ่ายชิงแชมป์โลกในต่างประเทศเป็นตัวอย่าง
ส่วนนวพล แพ้คาบ้านเราเอง เขาคงเสียใจไม่น้อย แต่ผมว่า ถ้าเขาแก้ไขข้อบกพร่องตามที่ผมแนะนำในบทความนี้ เขาน่าจะยังมีโอกาสกลับมาชิงแชมป์โลกได้อีกครั้งแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ถ้าแสดงความเห็นตรงช่องนี้ผมจะได้อ่านทุกความเห็นครับ แต่ถ้าความเห็นไม่ขึ้นอาจเพราะระบบรอตรวจสแปม ต้องรอ1-2วัน / ใหม่ เมืองเอก kaeake@ymail.com